สิทธิในการรับบริการทางการแพทย์
ประเทศไทยมีการจัดระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐให้ประชาชนชาวไทยได้รับการดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาลที่จำเป็น คนพิการในฐานะพลเมืองของประเทศจึงมีสิทธิขอรับบริการทางการแพทย์ ตามสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกันตามเงื่อนไขที่กำหนด สิทธิในการรับบริการทางการแพทย์มีทั้งสิ้น 6 ประเภท ดังนี้
-
- สวัสดิการการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการและบุคคลในครอบครัว เป็นสวัสดิการการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ข้าราชการบำนาญที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานราชการที่ไม่ใช่หน่วยงานส่วนท้องถิ่น และบุคคลในครอบครัวอันชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิ (บิดา มารดา คู่สมรส บุตรลำดับที่ 1–3 ซึ่งไม่รวมบุตรบุญธรรม) สวัสดิการนี้ดูแลโดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง
- สวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น และบุคคลในครอบครัว เป็นสวัสดิการการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการ ข้าราชการการเมือง [นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)] พนักงานเทศบาล พนักงานส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำ ข้าราชการครูที่ปฏิบัติงานในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ยกเว้นกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา และและบุคคลในครอบครัวอันชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิ (บิดา มารดา คู่สมรส บุตรลำดับที่ 1–3 ซึ่งไม่รวมบุตรบุญธรรม) สวัสดิการนี้ดูแลโดยกระทรวงมหาดไทย
- สวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการ พนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) และบุคคลในครอบครัว เป็นสวัสดิการการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการ ข้าราชการการเมือง ลูกจ้างประจำ ข้าราชการครูสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) และและบุคคลในครอบครัวอันชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิ (บิดา มารดา คู่สมรส บุตรลำดับที่ 1–3 ซึ่งไม่รวมบุตรบุญธรรม) สวัสดิการนี้ดูแลโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษกรุงเทพมหานคร/เมืองพัทยา
- สวัสดิการการรักษาพยาบาลของพนักงานหน่วยงานรัฐอื่น ๆ เป็นสวัสดิการการรักษาพยาบาลสำหรับพนักงานในหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ เช่น หน่วยงานอิสระ หน่วยงานในกำกับของรัฐ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น สวัสดิการนี้ดูแลโดยหน่วยงานต้นสังกัดนั้น ๆ
- สวัสดิการการรักษาพยาบาลจากกองทุนประกันสังคม เป็นสวัสดิการการรักษาพยาบาลที่ให้สิทธิ์แก่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม (ผู้จ่ายเงินเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม) สวัสดิการนี้ดูแลโดยกระทรวงแรงงาน
- สวัสดิการการรักษาพยาบาลหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นสวัสดิการการรักษาพยาบาลที่ให้สิทธิ์แก่คนไทยทุกคนที่มีสัญชาติไทยและเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ซึ่งไม่ได้รับสวัสดิการ 5 กลุ่มข้างต้น สวัสดิการนี้ดูแลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
การรับสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการ ข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น ข้าราชการพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) และพนักงานหน่วยงานรัฐอื่น ๆ
สวัสดิการการรักษาพยาบาลในกลุ่มนี้เป็นสิทธิของข้าราชการ พนักงาน และบุคคลในครอบครัวอันชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิซึ่งไม่ได้รับสิทธิอื่น (เว้นแต่สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ได้แก่ บิดา มารดา คู่สมรส บุตรลำดับที่ 1–3 ซึ่งไม่รวมบุตรบุญธรรม โดยสามารถใช้สิทธิได้ที่สถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง
ในการขอรับสิทธิให้ติดต่อยังหน่วยงานต้นสังกัดของผู้มัสิทธิ ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นข้าราชการ ลูกจ้างประจำ หรือบุคคลในครอบครัว สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ติดต่อไปยังกระทรวงฯ เป็นต้น
ติดต่อสอบถามรายละเอียด
-
- ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ข้าราชการบำนาญที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานราชการที่ไม่ใช่หน่วยงานส่วนท้องถิ่น และบุคคลในครอบครัว ติดต่อได้ที่
-
-
- หน่วยงานต้นสังกัด
- กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ถนนพระรามที่ 6 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
Call Center 02 270 6400
-
-
- ข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น และบุคคลในครอบครัว ติดต่อได้ที่
-
-
- หน่วยงานต้นสังกัด
- สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ถนนอัษฎางค์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทรศัพท์ 02 222 1141-55
-
-
- ข้าราชการ พนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) และบุคคลในครอบครัว ติดต่อได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษกรุงเทพมหานคร/เมืองพัทยา
-
- พนักงานหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ติดต่อได้ที่หน่วยงานต้นสังกัด
การรับสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลจากกองทุนประกันสังคม
สวัสดิการการรักษาพยาบาลในกลุ่มนี้เป็นสิทธิของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม (ผู้จ่ายเงินเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม) ก่อนใช้สิทธิในการรักษาพยาบาลต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมมาไม่น้อยกว่า 3 เดือน โดยสามารถใช้สิทธิได้ที่สถานพยาบาลของประกันสังคมจำนวน 1 แห่งที่ได้ผู้ประกันจนลงทะเบียนไว้เท่านั้น ผู้ประกันตนสามารถขอเปลี่ยนสถานพยาบาลได้ปีละ 1 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของทุกปี สามารถแจ้งขอเปลี่ยนสถานพยาบาลด้วยตนเองได้ 3 วิธีดังนี้
-
- ยื่นแบบการเลือกสถานพยาบาลในการรับบริการทางแพทย์ (สปส. 9–02) ที่สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศ ดาวน์โหลดแบบ สปส. 9–02 ได้ที่นี่ https://www.sso.go.th/wpr/assets/upload/files_storage/sso_th/129e4de503fea07e200ed65324f893d9.pdf
- แจ้งเปลี่ยนสถานพยาบาลผ่านเว็บไซต์ https://www.sso.go.th
- แจ้งเปลี่ยนสถานพยาบาลผ่านแอปพลิเคชัน SSO Connect ในโทรศัพท์มือถือ
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนคนพิการมีสิทธิพิเศษสามารถเลือกใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้จากกองทุนประกันสังคมหรือหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิ 30 บาทเดิมหรือสิทธิบัตรทอง) ผู้ประกันตนที่ต้องการใช้สิทธิกองทุนประกันสังคมให้แจ้งความประสงค์โดยยื่นแบบการเลือกสถานพยาบาลในการรับบริการทางแพทย์ (สปส. 9–02) ด้วยตนเองที่สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศ
ติดต่อสอบถามรายละเอียด
-
- กรุงเทพมหานคร ติดต่อได้ที่
-
-
- สำนักงานประกันสังคม สำนักงานใหญ่ เลขที่ 88/28 หมู่ 4 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี รหัสไปรษณีย์ 11000
E–mail: info@sso1506.com
สายด่วน 1506 - สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-12
ช่องทางการติดต่อ https://www.sso.go.th/eform_news/assets/sso-contacts.pdf
- สำนักงานประกันสังคม สำนักงานใหญ่ เลขที่ 88/28 หมู่ 4 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี รหัสไปรษณีย์ 11000
-
-
- ส่วนภูมิภาค ติดต่อได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด
ช่องทางการติดต่อ https://www.sso.go.th/eform_news/assets/sso-contacts.pdf
และสายด่วน 1506
- ส่วนภูมิภาค ติดต่อได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด
การรับสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
“สิทธิหลักประกันสุขภาพ” หรือที่เคยรู้จักกันในนาม “สิทธิ 30 บาทหรือสิทธิบัตรทอง” เป็นสิทธิเพื่อสร้างการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึงสำหรับบุคคลสัญชาติไทยที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก โดยสิทธิประโยชน์ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสำหรับคนพิการ (ท.74xxxxxx) คือสิทธิคนพิการที่ระบุสิทธิย่อย ท.74xxxxxx ซึ่งจะได้รับสิทธิสำหรับคนพิการเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์หลักของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
คนพิการที่สามารถขอรับสิทธิหลักประกันสุขภาพฯ (ท.74) ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
-
- คนพิการที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองใด ๆ จากกองทุนประกันสุขภาพอื่นที่รัฐจัดให้ เช่น กองทุนประกันสังคม สิทธิข้าราชการ/ลูกจ้างประจำและครอบครัว สิทธิพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว เป็นต้น
- คนพิการที่ได้รับการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556
- คนพิการที่ไม่ได้รับการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 จะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและออกใบรับรองความพิการที่ระบุประเภทความพิการจากแพทย์/ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมก่อน
ข้อดีของการลงทะเบียน ท.74 ในระบบหลักประกันสุขภาพฯ คือคนพิการสามารถใช้บริการจากสถานพยาบาลของรัฐได้ทุกแห่งโดยไม่ต้องมีใบส่งต่อ ซึ่งในกรณีทั่วไป สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะต้องเข้ารับบริการจากสถานพยาบาลของรัฐจำนวน 1 แห่งในพื้นที่ตามทะเบียนบ้านที่ได้กำหนดไว้เท่านั้น และยังได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งสิทธิประโยชน์หลักและสิทธิประโยชน์เฉพาะสำหรับคนพิการ ได้แก่ สิทธิการได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งในและนอกหน่วยบริการ (กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด การประเมิน/แก้ไขการพูด จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด การฟื้นฟูการได้ยิน การฟื้นฟูการเห็น การกระตุ้นพัฒนาการ การพัฒนาศักยภาพในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การเข้ารับบริการการฝึกใช้ไม้เท้าขาวเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพการเห็น เป็นต้น)
การทำสิทธิหลักประกันสุขภาพฯ สำหรับคนพิการ (ท.74)
-
- กรุงเทพมหานคร: สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตทุกเขตในวันและเวลาราชการ
- ส่วนภูมิภาค: สามารถลงทะเบียนได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือโรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ใกล้บ้าน หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
โดยในการลงทะเบียนใช้หลักฐานประกอบดังนี้
-
- บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการออกให้ (เด็กใช้ใบสูติบัตรหรือใบเกิด)
- สำเนาทะเบียนบ้านที่คนพิการมีชื่ออยู่ กรณีพักอาศัยอยู่จริงไม่ตรงตามทะเบียนบ้านให้แสดงดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ให้เพิ่มเติมชื่อในทะเบียนบ้านที่ไปพักอาศัย หรือขอหนังสือรับรองจากผู้นำชุมชนว่าได้พักอาศัยอยู่จริง หรือรับรองตนเองพร้อมแสดงหลักฐานอื่นประกอบ (ใบเสร็จค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ที่มีชื่อตนเอง) หรือขอหนังสือรับรองจากผู้ว่าจ้างหรือนายจ้าง เป็นต้น
- บัตร/สมุดประจำตัวคนพิการ หรือเอกสารรับรองการตรวจประเมินความพิการจากแพทย์
เมื่อเจ็บป่วยและต้องการใช้สิทธิของคนพิการสามารถเข้ารับการรักษากับหน่วยบริการของรัฐที่อยู่ใกล้ที่สุด พร้อมแสดงหลักฐานประกอบ ได้แก่ บัตรประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง (ท.74) พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนหรือเอกสารอื่นใดที่ราชการออกให้และมีรูปถ่าย หากเป็นเด็กใช้สูติบัตร (ใบเกิด)
ติดต่อสอบถามรายละเอียด
-
- คู่มือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสำหรับคนพิการ (ท.74XXXXXXXX) โดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่
https://med.mahidol.ac.th/health_service/sites/default/files/public/pdf/pikarn_0.pdf
- คู่มือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสำหรับคนพิการ (ท.74XXXXXXXX) โดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่
-
- กรุงเทพมหานคร ติดต่อได้ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 120 หมู่ 3 ชั้น 2-4 อาคารรวมหน่วยงานราชการ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานครฯ 10210
สายด่วนสปสช. 1330
- กรุงเทพมหานคร ติดต่อได้ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 120 หมู่ 3 ชั้น 2-4 อาคารรวมหน่วยงานราชการ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานครฯ 10210
-
- ส่วนภูมิภาค ติดต่อได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประจำเขต และสายด่วนสปสช. 1330
หมายเหตุ:
สิทธิด้านบริการทางการแพทย์ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556
ตามมาตรา 20 (1) ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 กำหนดให้คนพิการมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐในประเด็นการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการ เพื่อปรับสภาพทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมพฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ หรือเสริมสร้างสมรรถภาพให้ดีขึ้น
กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบจัดบริการตามกฎหมาย จึงออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2552 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้บริการในเรื่องการให้สิทธิคนพิการได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในเรื่องต่าง ๆ จำนวน 26 รายการ ดังนี้
-
- การตรวจวินิจฉัย การตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษด้วยวิธิอื่นๆ ตามชุดสิทธิประโยชน์
- การแนะแนว การให้คําปรึกษา และการจัดบริการเป็นรายกรณี
- การให้ยาผลิตภัณฑ์ เวชภัณฑ์ และหัตถการพิเศษอื่นๆ เพื่อการบำบัด ฟื้นฟู เช่น การฉีดยาลดเกร็ง การรักษาด้วยไฟฟ้า Hemoencephalography (HEG) เป็นต้น
- การศัลยกรรม
- การบริการพยาบาลเฉพาะทาง เช่น พยาบาลจิตเวช เป็นต้น
- กายภาพบําบัด
- กิจกรรมบําบัด
- การแก้ไขการพูด (อรรถบำบัด)
- พฤติกรรมบําบัด
- จิตบําบัด
- ดนตรีบําบัด
- พลบําบัด
- ศิลปะบําบัด
- การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยิน
- การพัฒนาทักษะในการสื่อความหมาย
- การบริการส่งเสริมพัฒนาการหรือบริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม
- การบริการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก เช่น นวดไทย ฝังเข็ม เป็นต้น
- การพัฒนาทักษะทางสังคม สังคมสงเคราะห์ และสังคมบําบัด เช่น กลุ่มสันทนาการ เป็นต้น
- การประเมินและเตรียมความพร้อมก่อนการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพหรือการประกอบอาชีพ
- การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเห็นหรือการสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว
- การบริการข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพผ่านสื่อในรูปแบบที่เหมาะสมกับความพิการซึ่งคนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้
- การฝึกอบรมและพัฒนาทักษะแก่คนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ และผู้ช่วยคนพิการ
- การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน การเยี่ยมบ้าน กิจกรรมการให้บริการเชิงรุก
- การฝึกทักษะการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน เช่น การฝึกทักษะชีวิต การฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระสำหรับคนพิการ การฝึกทักษะการใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ เป็นต้น
- การบริการทันตกรรม เช่น การเคลือบหลุ่มร่องฟัน เป็นต้น
- การให้บริการเกี่ยวกับกายอุปกรณ์เทียม กายอุปกรณ์เสริม เครื่องช่วยความพิการ หรือสื่อส่งเสริมพัฒนาการ
แม้กฎหมายจะระบุถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพดังกล่าวมานี้ ให้บริการผ่านหน่วยจัดบริการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน พ.ศ.2563 ในทางปฏิบัติ รัฐยังไม่สามารถจัดบริการให้กับคนพิการได้ทุกรายการ ยังคงมีกระบวนการพัฒนาเพื่อให้มีบริการครบถ้วนต่อไป
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
“สำนักงานประกันสังคมประกันสังคม” https://www.sso.go.th/
“คู่มือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสำหรับคนพิการ (ท.74XXXXXXXX)”
https://med.mahidol.ac.th/health_service/sites/default/files/public/pdf/pikarn_0.pdf
“ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของคนพิการ” https://med.mahidol.ac.th/health_service/th/km/15feb2018–1335
“สรุปสวัสดิการประกันและค่ารักษาพยาบาลจากรัฐบาล” https://med.mahidol.ac.th/health_service/th/km/09feb2018–0826
“พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม” http://dep.go.th/uploads/Docutents/33cb9847–0905–4854–842e–fec9922ff1e6พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ%20พ.ศ.%202550%20(ปรับปรุงครั้งที่%206).pdf
“แนวทางปฏิบัติในการขอเบิกเงินสวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล และค่าการศึกษาบุตรของผู้เบิกเงิน” http://www.bangkok.go.th/upload/user_public/nongchok/school/2559/04/270459_2.pdf
“การลงทะเบียนสิทธิผู้มีสิทธิและอนุมัติสิทธิในโปรแกรมทะเบียนบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” https://www.kalupank.go.th/datacenter/doc_download/a_020719_120817.pdf