สิทธิ “คนพิการ” ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556
พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 มาตรา 20กำหนดให้คนพิการมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพและพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ ดังนี้
- เบี้ยยังชีพคนพิการ เดือนละ 800 บาท ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป ปรับเป็นเดือนละ 1,000 บาทสามารถยื่นคำขอรับเบี้ยความพิการได้ที่หน่วยงานในพื้นที่ที่คนพิการมีชื่ออยู่ตามทะเบียนบ้าน
- การรับบริการทางการแพทย์ ลงทะเบียนสิทธิประโยชน์ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสำหรับคนพิการ (ท.74xxxxxx) เพื่อใช้บริการจากสถานพยาบาลของรัฐได้ทุกแห่งโดยไม่ต้องมีใบส่งต่อ และได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งสิทธิประโยชน์หลักและสิทธิประโยชน์เฉพาะสำหรับคนพิการ ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์
- การศึกษา สิทธิได้รับการศึกษาโดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการจนตลอดชีวิต พร้อมทั้งได้รับเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา
- การมีงานทำของคนพิการ รับบริการการจัดหางานและสนับสนุนการมีงานทำตามมาตรา 33 (กำหนดอัตราส่วนการรับคนพิการเข้าทำงานในสถานประกอบการหรือหน่วยงานของรัฐ โดยจำนวนลูกจ้างต่อจำนวนที่จ้างคนพิการเป็น 100:1) และมาตรา 35 (การจัดสัมปทาน สถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดเหมาช่วงงาน ฝึกงาน หรือการให้ความช่วยเหลืออื่นใด)
- การกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการและที่บรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีบริบูรณ์) และผู้ดูแลคนพิการตามกฎหมาย สามารถกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพหรือขยายกิจการจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รายละไม่เกิน 60,000 บาท
- การขอรับบริการล่ามภาษามือ เพื่อใช้ในกรณีต่างๆ ได้แก่ การใช้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข การสมัครงานหรือการติดต่อประสานงานด้านการประกอบอาชีพ การร้องทุกข์ การกล่าวโทษ หรือเป็นพยานในชั้นพนักงานสอบสวนหรือพนักงาน เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่น การเข้าร่วมประชุม สัมมนา หรือฝึกอบรม และบริการอื่นใดตามที่คณะอนุกรรมการฯ ประกาศกําหนด
- การขอรับการช่วยเหลือทางกฎหมาย ดังนี้ (1) การให้คำปรึกษาหารือทางกฎหมาย (2) การให้ความรู้ทางกฎหมาย (3) การจัดทำนิติกรรมสัญญา (4) การไกล่เกลี่ยหรือการประนีประนอมยอมความ (5) การจัดหาทนายความ และ (6) การให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ ในทางคดี
- การจัดให้มีผู้ช่วยคนพิการ สำหรับคนพิการที่จำเป็นต้องมีผู้ช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวัน
- การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการ เช่น การปรับปรุงห้องน้ำ การติดตั้งราวจับ การปรับพื้นผิวทางเดิน เป็นต้น ในอัตราเหมาจ่ายรายละไม่เกิน 20,000 บาท
- การลดหย่อนค่าโดยสารขนส่งสาธารณะ ได้แก่ สิทธิลดหย่อนค่าโดยสารร้อยละ 50 สำหรับรถโดยสารประจำสารประจำทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ รถโดยสารบริษัท ขนส่ง จำกัด และรถร่วมบริการ รถไฟการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเครื่องบินชั้นประหยัดสายการบินไทย และได้รับสิทธิยกเว้นค่าโดยสารของรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารในเมือง (แอร์พอร์ต เรล ลิงก์) รถไฟฟ้า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รถไฟฟ้าบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอส) และเรือด่วนเจ้าพระยาบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด
ที่มารูปภาพ: กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ http://dep.go.th/Content/View/5768/3%EF%BB%BF
ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดของสิทธิต่าง ๆ ได้จากคู่มือคนพิการ ซึ่งจัดทำโดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ http://www.amith.org/admin/imagesคู่มือคนพิการ.pdf
การยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ
ผู้ที่ประสงค์ขอรับสิทธิคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฯ ข้างต้น สามารถยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังนี้
คุณสมบัติของคนพิการที่ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ
ต้องเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทย หากบุคคลยังไม่ได้แจ้งเกิดหรือบุคคลที่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสัญชาติไทยต้องดำเนินการตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551ก่อน ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://www.bora.dopa.go.th/CallCenter1548/index.php/menu–population
เอกสารหลักฐานประกอบการยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ
เอกสารหลักฐานของคนพิการ:
-
- เอกสารประจําตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ สำเนาบัตรประจําตัวประชาชน สำเนาบัตรประจําตัวข้าราชการ สำเนาสูติบัตรสำหรับบุคคลอายุต่ำกว่าสิบห้าปี หรือหนังสือรับรองการเกิดตามแบบที่กรมการปกครองกำหนด
- สำเนาทะเบียนบ้านของคนพิการ
- รูปถ่ายคนพิการ ขนาด 1 นิ้ว ถ่ายมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 2 รูป ในกรณีที่คนพิการไม่ได้มายื่นคำขอด้วยตนเอง
- เอกสารรับรองความพิการ ซึ่งรับรองโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของสถานพยาบาลของรัฐ หรือสถานพยาบาลเอกชนที่อธิบดีประกาศกำหนด เว้นแต่กรณีสภาพความพิการเป็นที่เห็นได้โดยประจักษ์ ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอถ่ายสภาพความพิการไว้เป็นหลักฐาน ได้แก่ (1) บุคคลที่ไม่มีลูกตาทั้งสองข้าง ลูกตาสีขาวขุ่น ไม่มีลูกตาดำ ลูกตาฝ่อ โดยต้องมีความปกติดังกล่าวทั้งสองข้าง (2) บุคคลไม่มีรูหูทั้งสองข้าง และ (3) บุคคลที่เขนขาดตั้งแต่ระดับข้อมือขึ้นไป หรือขาขาดตั้งแต่ระดับข้อเท้าขึ้นไปอย่างน้อยหนึ่งข้างตัวอย่างรูปแบบเอกสารการรับรองความพิการ http://medinfo2.psu.ac.th/social/doc/2015-08-05-10-34-21.pdf
- เอกสารหลักฐานเพิ่มเติม (กรณีบุคคลอื่น เช่น ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาลหรือผู้ดูแลคนพิการ ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการแทนคนพิการ):
-
- สำเนาบัตรประชาชนของบุคคลนั้น
- สำเนาทะเบียนบ้านของบุคคลนั้น
- หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าได้รับมอบอำนาจจากคนพิการหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนพิการเนื่องจากเป็นผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาลหรือผู้ดูแลคนพิการ
สถานที่ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ
กรุงเทพมหานคร:
-
- ศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานคร
- สำนักงานหรือศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชนเขต 1 – 12
- โรงพยาบาลสิรินธร
- โรงพยาบาลผู้สูงอายุ บางขุนเทียน
- สถาบันราชานุกูล
- โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
- โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง)
- โรงพยาบาลพระราม 2
- สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ
- โรงพยาบาลที่มีศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จในโรงพยาบาล
ส่วนภูมิภาค:
-
- สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด หรือศูนย์บริการคนพิการจังหวัด
- โรงพยาบาลประจำจังหวัด/อำเภอที่มีศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จในโรงพยาบาล
การออกบัตรใหม่แทนบัตรเดิมที่หมดอายุ หรือชำรุด/สูญหาย
การตรวจสอบวันหมดอายุของบัตรประจำตัวคนพิการมีความสำคัญ เพราะหากบัตรหมดอายุแล้ว จะถูกระงับสิทธิประโยชน์ เช่น การจ่ายเบี้ยยังชีพคนพิการ จนกว่าจะดำเนินการต่ออายุบัตร เมื่อต่ออายุบัตรแล้ว ให้แจ้งข้อมูลของบัตรประจำตัวคนพิการฉบับใหม่แก่หน่วยงานที่จ่ายเบี้ยยังชีพให้กับคนพิการ เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และรับสิทธิ์ต่อไป
บัตรประจำตัวคนพิการจะมีอายุใช้งาน 8 ปี นับแต่วันออกบัตร เมื่อครบกำหนดแล้ว คนพิการจะต้องยื่นคำขอเพื่อขอมีบัตรประจำตัวคนพิการใหม่ หรือหากบัตรประจำตัวคนพิการชำรุด/สูญหาย หรือมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญก่อนวันหมดอายุ คนพิการสามารถยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการใหม่แทนบัตรเดิมได้ ณ สถานที่ที่ให้บริการออกบัตรประจำตัวคนพิการ พร้อมเอกสารหลักฐานดังนี้
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือสำเนาสูติบัตรของคนพิการ
- สำเนาทะเบียนบ้านของคนพิการ
- รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว ถ่ายมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 2 รูป
- บัตรประจำตัวคนพิการเดิมที่หมดอายุแล้ว (เฉพาะกรณีบัตรเดิมหมดอายุ)
กรณีบุคคลอื่น เช่น ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาลหรือผู้ดูแลคนพิการ ยื่นคำขอฯ แทนคนพิการ ต้องมีเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมดังนี้
- สำเนาบัตรประชาชนของบุคคลนั้น
- สำเนาทะเบียนบ้านของบุคคลนั้นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าได้รับมอบอำนาจจากคนพิการหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนพิการเนื่องจากเป็นผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาลหรือผู้ดูแลคนพิการ
สิทธิการอุทธรณ์
กรณีคนพิการไม่ได้รับความเห็นชอบให้มีบัตรประจำตัวคนพิการหรือไม่ได้รับความเห็นชอบให้มีบัตรประจำตัวคนพิการใหม่ อาจยื่นอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อนายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนจังหวัด ณ สถานที่ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งไม่ให้มีบัตรดังกล่าว
การยกเลิกการมีบัตรประจำตัวคนพิการ
คนพิการสามารถยกเลิกการมีบัตรประจำตัวคนพิการได้ในกรณีคนพิการถึงแก่ความตาย หรือได้รับการแก้ไข ฟื้นฟู จนไม่มีสภาพความพิการ หรือมีความประสงค์จะยกเลิกการมีบัตรประจำตัวคนพิการ โดยสามารถยื่นคำขอยกเลิกการมีบัตรประจำตัวคนพิการได้ ณ สถานที่ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ
เอกสารหลักฐานประกอบการยกเลิกการมีบัตรประจำตัวคนพิการ
กรณีคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการถึงแก่ความตาย มีเอกสารดังนี้
-
- บัตรประจำตัวคนพิการตัวจริง
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของคนพิการ
- สำเนาใบมรณะบัตร
ในกรณีได้รับการแก้ไข ฟื้นฟู จนไม่มีสภาพความพิการ หรือมีความประสงค์จะยกเลิกการมีบัตรประจำตัวคนพิการ มีเอกสารดังนี้
-
- บัตรประจำตัวคนพิการตัวจริง
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของคนพิการ
- เอกสารรับรองความพิการ
- เอกสารหลักฐานเพิ่มเติม (กรณีบุคคลอื่น เช่น ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาลหรือผู้ดูแลคนพิการ ยื่นคำขอยกเลิกการมีบัตรประจำตัวคนพิการแทนคนพิการ) ได้แก่ (1) สำเนาบัตรประชาชนของบุคคลนั้น (2) สำเนาทะเบียนบ้านของบุคคลนั้น และ (3) หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าได้รับมอบอำนาจจากคนพิการหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนพิการเนื่องจากเป็นผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาลหรือผู้ดูแลคนพิการ
ตัวอย่างแบบคำขอยกเลิกการมีบัตรประจำตัวคนพิการ http://www.suphanburi.m–society.go.th/
?wpfb_dl=32
ติดต่อสอบถามรายละเอียด
กรุงเทพมหานคร:
-
- กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ อาคาร 60 ปี กรมประชาสงเคราะห์ ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทร. 02 354 3388
- ศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานคร กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โทร. 02 354 3388 ต่อ 701-705
- ศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานคร (ลาดกระบัง) บ้านเอื้ออาทรลาดกระบัง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร 10520 โทร. 02 364 7772
- ศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานคร (มีนบุรี) ซอยรามคำแหง 172 แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร 10150 โทร. 02 136 7288
- ศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานคร (สายไหม) ชุมชนบ้านเอื้ออาทรสายไหม แขวงสายไหม เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร 10220 โทร. 065 504 1494
- ศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานคร (อ้อมน้อย) ชุมชนบ้านเอื้ออาทรพุทธมณฑลสาย 5 โทร. 02 482 3200
ส่วนภูมิภาค:
สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สามารถค้นหมายเลขโทรศัพท์ของแต่ละจังหวัดได้ที่ https://www.m-society.go.th/news_view.php?nid=10783
หมายเหตุ:
นิยาม “คนพิการ”
“คนพิการ” ตามความหมายของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 คือ “บุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นใด ประกอบกับมีอุปกสรรคในด้านต่าง ๆ และมีความจำเป็นพิเศษที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านหนึ่งด้านใด เพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป”
ประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง ประเภทและหลักเกณฑ์ความพิการ ได้กำหนดประเภทความพิการไว้ 7 ประเภท ดังนี้ (1) ความพิการทางการเห็น (2) ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย (3) ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย (4) ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม (5) ความพิการทางสติปัญญา (6) ความพิการทางการเรียนรู้ และ (7) ความพิการทางออทิสติก
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
“ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคําขอมีบัตรประจําตัวคนพิการการออกบัตร และการกําหนดเจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจออกบัตรประจําตัวคนพิการ การกําหนดสิทธิหรือการเปลี่ยนแปลงสิทธิ และการขอสละสิทธิของคนพิการ และอายุบัตรประจําตัวคนพิการ พ.ศ. 2556” http://dep.go.th/Content/View/1337/2
“บัตรประจำตัวคนพิการ” http://neppr56.dep.go.th/index.php/claim/claim_detail/20
“บัตรประจำตัวคนพิการและสิทธิประโยชน์” http://www.craniofacial.or.th/disability–card.php
“พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม” http://dep.go.th/uploads/Docutents/33cb9847–0905–4854–842e–fec9922ff1e6พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ%20พ.ศ.%202550%20(ปรับปรุงครั้งที่%206).pdf
“คู่มือคนพิการ” http://www.amith.org/admin/imagesคู่มือคนพิการ.pdf
“พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสําหรับคนพิการ พ.ศ. 2551” http://sedf.obec.go.th/download/533/
“ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยบริการล่ามภาษามือ พ.ศ. 2561” http://law.m–society.go.th/law2016/law/download_by_name/864?filename=5b976c65b2dec.pdf
“คู่มือสิทธิมนุษยชนด้านการขนส่งสาธารณะของคนพิการ เด็ก และผู้สูงอายุ” http://www.mot.go.th/file_upload/2558/brochure_human_rights.pdf