ยากลาย เป็นที่เลื่องลือมาตั้งแต่สมัยก่อน ระยะเวลา 100 กว่าปีผ่านมา ดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำกลายสองฝั่งแม่น้ำกลาย ครอบคลุมพื้นที่อำเภอท่าศาลา และอำเภอนบพิตำ(ที่แยกเป็นอำเภอใหม่)จากพื้นที่ของอำเภอท่าศาลา บริเวณ ตำบลสระแก้ว ตำบลกลาย ตำบลตลิ่งชัน บริเวณแถบนี้ เป็นพื้นที่แม่น้ำกลายไหลผ่านทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ ยามน้ำหลากได้พัดพานำความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุทำให้เป็นที่กล่าวขานว่ายาเส้นที่มาจากพื้นที่ตำบลกลาย มีกลิ่น และรสชาติยากลาย มีกลิ่นฉุน ไม่เหมือนที่อื่น คอยาเส้นมักจะนิยมบริโภค จนเป็นที่รู้จัก ถ้าจะสูบยาเส้น ควรจะเป็นยากลาย นามชื่อเลื่องลือ กล่าวขานในหมู่ผู้สูบนิยมชมชอบ พ่อค้ายาเส้นจึงบอกที่มี ว่า “ยากลาย”
ยากลาย เป็นยาสูบที่ปลูกในเขตท้องที่ตำบลกลายอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีชื่อเสียงในด้านที่มีรสชาติที่มีความฉุนจัด (เมาจัด) และมีราคาค่อนข้างสูง การปลูกยาสูบที่ตำบลกลาย คงทำกันมาแล้วไม่ตำกว่า 100 ปี เพราะชาวบ้านที่มีอายุประมาณ 70-80 ปี ในขณะนี้เล่าว่า ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นบรรพบุรุษของเขาปลูกยากลายกันอยู่แล้ว อนึ่ง ยากลายยังแพร่พันธุ์ไปสู่ตำบลที่ใกล้เคียง เช่น ตำบลตลิ่งชัน ตำบลสระแก้ว ตำบลท่าศาลา และตำบลกะหรอ กิ่งอำเภอนบ
พิตำ เป็นต้น
ยากลายเป็นพันธุ์ไม้ล้มลุก ให้ประโยชน์ปีเดียวก็ตาย มีลำต้นอ่อนเปราะ ภายในลำต้นกลวง ลำต้นโดยขณะเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2.0 นิ้ว ไม่มีกิ่ง ใบกว้างประมาณ 20-30 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร โดยแตกออกจากลำต้นตั้งแต่โคนจนถึงยอด ต้นยากลายมีความสูงประมาณ 100-150 เซนติเมตร ใบหนา มีขนเล็กน้อย ถ้าจับดูจะรู้สึกเหนียวหนืดผิดกับใบไม้อื่น ความสูงของต้นและความโตของใบจะขึ้นอยู่กับอาหารที่ได้รับด้วย แต่อย่างไรก็ตามชาวไร่ยากลายเล่าว่า ยากลายนั้นจะมีขนาดลำต้น ความสูงและความโตของใบ พร้อมทั้งความเหนียวหนืดที่เหนือกว่าที่มีผู้นำไปปลูกในแหล่งอื่น แม้แต่ปลูกในเขตใกล้เคียงในจังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความอุดมสมบูรณ์ของดินในเขตตำบลกลายก็เป็นได้
การทำไร่ยากลายมีขั้นตอนดังนี้
- การเตรียมพื้นที่ เดิมนั้นจะใช้เป็นป่ารกร้างว่างเปล่าที่ได้มาด้วยการจับจอง แต่ปัจจุบันชาวบ้านจะปลูกยากลายกันในพื้นที่สวนยางพื้นเมืองที่ได้รับการสงเคราะห์ให้ปลูกยางพันธุ์ดีแทนยางพันธุ์พื้นเมือง การเตรียมดินจะเริ่มประมาณช่วงเดือน กุมภาพันธ์ – เดือนมีนาคม ชาวไร่จะถางป่าโดยฟันต้นไม้เล็กๆ ออกให้ทั่วก่อนแล้วจึงโค่นต้นไม้ใหญ่ๆ ลงให้หมดแล้วปล่อยทิ้งไว้สักระยะหนึ่งกะประมาณให้แห้งพอจะเผาติดไฟซึ่งส่วนใหญ่ราวๆ 1 เดือน ก็จุดเผาได้ การเผานั้นจะเริ่มจุดทางด้านเหนือเพื่อให้ไฟลุกไปได้ทั่วไร่ เมื่อเสร็จการเผาแล้ว ชาวบ้านก็จะเริ่ม “ปรนไร่” คือเก็บใบไม้และกิ่งไม้ที่ไม่ติดไฟมากองเผาอีกจนหมดแล้วใช้“ไม้หมรูน”ลากหรือดันขี้เถ้าให้กระจายทั่วพื้นที่ ขั้นตอนการเก็บเศษไม้มาเผา เรียกว่า ปรนไร่ หลังจากนั้นก็ขุดร่องเป็นแปลงปลูก
- การเตรียมพันธุ์ พันธุ์ยากลายที่ใช้ปลูกกันในทุกๆปี นั้นชาวบ้านเก็บเมล็ดพันธุ์ยาไว้จากการปลูกในปีก่อน สำหรับในการปลูกในปีถัดไป จะไม่มีการไปเอาพันธุ์จากในท้องที่อื่นๆ การเก็บเมล็ดพันธุ์ยานั้น ชาวบ้านจะปล่อยให้ต้นยาที่เก็บใบหมดแล้วออกดอกและฝัก เมื่อฝักแก่เต็มที่แล้วก็จะตัดมาทั้งลำต้นมาผึ่งไว้ที่แห้ง เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ปลูก เริ่มด้วยการเอาเมล็ดพันธุ์ยาที่เตรียมไว้ห่อผ้าแช่น้ำ 1-2 คืน แล้วนำไปเพาะในกระบะดินหรือดินปนทรายที่เตรียมไว้ คอยรดน้ำให้ดินเปียกชุ่มอยู่เสมอ ประมาณ 1 เดือน ก็จะได้ต้นกล้ายาสูบมีใบราว 2-3 ใบ จึงย้ายต้นกล้าไปแยกเพาะชำไว้อีก การย้ายต้นกล้าไปเพาะใบนี้เรียกว่า “ฉุนลูกยา”ในการย้ายไปปลูก อาจปลูกชำในกระเปาะเล็กๆ หรือปลูกในร่องฉุน ถ้าปลูกในร่องฉุนจะปลูกห่างประมาณ 5-6 นิ้วต่อต้น ระยะแรกๆ จะต้องรดน้ำทุกวันและทำหลังคาบังแดดให้ด้วย ซึ่งจะใช้ทางมะพร้าวกันเป็นส่วนใหญ่ หรืออาจจะมีใบไม้อื่นบ้าง เช่น ระกำ เมื่อต้นกล้าแข็งแรงดีแล้วก็เอาหลังคาออก ต้นกล้านี้เมื่อมีใบราว 4-5 ใบ หรือมีความสูงประมาณ 6-8 นิ้ว ก็นำไปปลูกได้
- การปลูก ฤดูการปลูกยากลายนั้น ชาวบ้านจะเริ่มลงมือปลูกในเดือนพฤษภาคม หรือที่เรียกกันว่าเดือน 6 เพราะช่วงนี้จะมีฝนตกอันเนื่องมาจากลมมรสุมตะวันตกฉียงใต้ ซึ่งเรียกกันว่า “ฝนพลัด” การปลูกระยะห่างระหว่างต้น ประมาณ 70-75 เซนติเมตร ก่อนขุดหลุมจะมีการขึงเชือกกะระยะห่างให้เรียบร้อย เมื่อปลูกแล้วก็จะดูเป็นแถวสวยงามและง่ายแก่การบำรุงรักษาและการเก็บผลผลิต ก่อนปลูกจะมีการใส่ปุ๋ยรองหลุมเดิมจะนิยมใช้มูลค้างคาว แต่ปัจจุบันจะใช้ปุ๋ยเคมี 12-12-17-2 ใช้ประมาณหลุมละ 1 ช้อนโต๊ะ คลุกเคล้ากับดินให้ทั่วแล้วปลูกต้นยาลงไป ต้องพยายามให้ลำต้นตั้งตรง เสร็จแล้วถมดินให้แน่น เด็ดใบล่างทิ้งประมาณ 1-2 ใบ มักจะปลูกเวลาเย็น เชื่อกันว่าต้นยาจะตั้งตัวได้เร็ว (เข็งแรง) หากไม่มีฝนหลังจากปลูกแล้วต้องทำเพิงกำบังแดด และรดน้ำอยู่ 7-10 วัน เมื่อต้นยาแข็งแรงดีแล้วก็เอที่กำบังแดดออก
- การบำรุงรักษา หลังจากปลูกเสร็จแล้วก็ต้องหมั่นกำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แย่งอาหารต้นยาสูบและค่อยกำจัดตัวหนอนซึ่งจะกัดกินใบและยอด เมื่อต้นยาสูบมีความสูงประมา 1 ศอก หรือชาวบ้านจะกะประมาณจากจำนวนใบ คือมีประมาณ 7-8 ใบ เป็นระยะที่ต้นกำลังเจริญเติบโตก็ต้องใสปุ๋ยให้อีกครั้งหนึ่ง โดยการโรยปุ๋ยรอบโคนต้นยาไว้ให้สูง ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า “พูนยา” วิธีการนี้เป็นการปิดปุ๋ยไม่ให้น้ำชะไปที่อื่น และเป็นการป้องกันไม่ให้ต้นยาล้มได้ง่ายเมื่อถูกลมพัด เมือต้นยามีใบประมาณ 18-20 ใบ ชาวบ้านก็จะเด็ดยอดทิ้งเสีย เพื่อลดความเจริญเติบโตทางด้านความสูง แต่ให้มาเจริญที่ใบ ใบจะได้รับอาหารมากขึ้น โตและหนาขึ้น ในช่วงนี้ต้องคอยหมั่นหักแหนะ “แขนง” ของต้นยาสูบที่งอกจากลำต้นที่โคนใบให้หมด เพื่อมิให้แยงอาหารจากส่วนที่อื่นๆ เมื่อเห็นว่าใบยาสูบมีสีเขียวแก่และปลายใบสุดมีสีดำก็แสดงว่าใบยาสูบเริ่มแก่เก็บได้แล้ว ซึ่งเวลาทั้งหมดในการทำไร่ยาสูบนี้ประมาณ 6 เดือน
อุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตยาเส้น
- อุปกรณ์การหั่นยา ภาษาถิ่นใต้ “เขอฝานยา”
- ม้ารองนั้ง
- มีด
- หินลับมีด
- แผงยา
- เสื่อ
- ราวตากยา
การผลิตยาเส้น “ยากลาย” เป็นยาเส้นที่มีชื่อเสียงที่ เป็นที่รู้จักกันดีในแง่คุณภาพของเส้นยา กล่าวกันว่าเส้นจะเล็กนิ่มไม่หยาบแข็งสีคล้ำ มีน้ำมันดิน ไม่แห้งหยาบกระด้าง และที่ขึ้นชื่อลือชามากที่สุดก็ในด้านรสชาติ เป็นยาเส้นที่มีรสฉุน มีความเมาจัด ซึ่งสิ่งเหล่นนี้เป็นสิ่งที่ชาวไร่ภูมิใจมาก ชาวไร่ยากลายเล่าว่า นอกจากคุณภาพของดินและลักษณะอากาศที่เหมาะสมกับยาสูบชนิดนี้แล้ว เขาเชื่อว่าเทคนิคและวิธีการต่างๆ ของระยะเวลาการเก็บ การบ่มใบยา การหั่นตลอดจนการเก็บรักษายาเส้น เป็นสิ่งที่สำคัญที่ช่วยให้ยากลายมีคุณลักษณะเหล่านี้ กลวิธีการผลิตยากลาย เริ่มตั้งแต่การเก็บใบยาสูบ เมื่อชาวไร่รู้ว่าถึงเวลาจะเก็บได้แล้ว เขาจะแบ่งใบยาออกเป็น 3 พวก คือ ตีนยา ได้แก่ ใบยาสูบที่อยู่สวนล่างของลำต้น คือส่วนโคนต้นนับจากพื้นดินมา 5-6 ใบ ตีนยาจะมีคุณภาพต่ำ ไม่ฉุนจัดเหมือนใบส่วนอื่นๆ กลางยา ได้แก่ใบยาสูบที่ถัดจากตีนยาขึ้นมานับตั้งแต่ใบที่ 7 ถึงใบที่ 11 หรือ12 กลางยามีจำนวนราว 5-6 ใบ กลางยามีคุณภาพดีกว่าและราคาสูงกว่า ตีนยา ยอดยา คือส่วนที่เหลือทั้งหมดมีประมาณ 5-10 ใบ จัดเป็นใบยาที่ดีที่สุด รสฉุนจัดที่สุด และราคาแพงมากที่สุด เรียกว่า “ยายอด” ปัจจุบันชาวสวนยาทั่วไปมักแบ่งใบยาออกเพียง 2 พวกคือตีนยากับยอดยาเท่านั้น ส่วนกลางยาจะรวมกับส่วนยอด เพราะจะได้ปริมาณมาก แต่ชาวไร่ยากลายจะแบ่งตามแบบเดิม เพราะกลัวว่าจะทำให้คุณภาพยาเส้นต่ำลง การเก็บรักษาใบยาสูบนั้นจะเริ่มเก็บใบยาจากตีนยาก่อนแล้วนำมาบ่มไว้โดยวางใบยาพาดทับซ้อนกันโดยให้ส่วนของปลายใบแต่ละใบยื่นโผล่ออกมาประมาณ 1 ใน 5 ของความยาวใบ การเก็บยาในวันหนึ่งก็บ่มไว้กองหนึ่งไม่ปะปนกันที่ที่ใช้บ่มยานั้นควนมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ส่วนใหญ่จะบ่มที่ขนำ บ่มไว้ 4-5 คืน ก็พร้อมที่จะนำไปขวานได้ ตอนนี้ใบยาจะมีลักษณะสีค่อนข้างเหลือง นำมาดึงเอาก้านใบออกเรียกว่า “รูดยา” วางเป็นกองๆ กองละประมาณ 100 ใบ แล้วม้วนให้แน่นเป็นมัดๆ แต่ต้องไม่โตกว่าช่องวงกลมของขื่อขวานยา แล้วมัดด้วยเชือกกล้วยหรือตอกคล้า ไว้เป็นมัดๆ ซึ่งนิยมทำกันในตอนเย็นหรือตอนกลางคืนรุ่งเช้าจึงลงมือฝาน การฝานยาเป็นงานที่ค่อนข้างยากและเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่ต้องอาศัยทักษะเฉพาะบุคคล วิธีการฝานจะเอาม้วนใบยาวางในรางของขื่อฝานยา จับด้วยมือซ้าย ใช้มือขวาจับมีด มือซ้าย ดันม้วนใบยาออกมาเบาๆ ทีละนิด จับมีดโดยให้คมมีดชิดกับหน้าขื่อ สันมีดผายออกเล็กน้อย แล้วยกมีดฝานเป็นจังหวะเล็กน้อย เส้นยาจะได้มีเส้นละเอียดเล็กเท่ากันทุกเส้น เป็นงานที่ต้องอาศัยความชำนาญของแต่ละคน และที่สำคัญมีดฝานยาจะต้องลับให้คมอยู่เสมอ ปกติแล้วงานฝานยา ส่วนใหญ่จะเป็นหน้าที่ของผู้ชาย ผู้หญิงจะมีหน้าที่ตากยา คือเอาเส้นยาที่ฝานได้แล้วมาวางเรียงบนแผงยา ไปตามความยาวของแผง ไม่ให้ยาหนาหรือบางเกินไปเพราะหากหนาจะทำให้แห้งช้า แต่ถ้าบางนักจะทำให้ยาพับได้เล็ก ยาเส้นแต่ละแผงจะแบ่งได้ 2 พับ ซึ่งเวลาตากยาก็จะต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วนเท่าๆกัน เมื่อตากเส้นแล้วก็จะต้องนำไปผึ่งแดด วันที่มีแสงแดดจ้าทั้งวันผึ่งแดดวันเดียวก็ใช้ได้ โดยจะต้องมีการ “แปร”คือพลิกเอาด้านล่างขึ้นบนซึ่งจะทำกันในตอนเที่ยงแล้วตากน้ำค้างต่ออีก 1 คืน การตากน้ำค้างนั้นก็เพื่อให้เส้นยาที่แห้งเกรียมอ่อนตัวลงสะดวกในการจับพับเป็นพับๆ แล้วการเก็บยาเส้นให้มีคุณภาพดีอยู่ได้นานชาวไร่ยากลายเล่าว่าจะต้องเก็บไว้ในที่มิดชิดไม่ให้ถูกลมถูกน้ำ สมัยก่อนจะเก็บไว้ในโอ่งปากเล็ก กระบอกไม้ไผ่ วิธีเหล่านี้เขาเก็บรักษาไว้เพื่อบริโภคเอง ปัจจุบันยากลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของชาวตำบลกลาย เป็นสินค้าที่ทำรายได้ให้แก่อำเภอท่าศาลามาก จะมีพ่อค้าต่างจังหวัดมาซื้อยากลายต่อจากพ่อค้าคนกลางซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นอีกทีหนึ่ง ส่วนมากจะเป็นพ่อค้าจากจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส ซึ่งจะขายกันในราคาสูงพอสมควร
ประชาชนทั่วไป มักจะพบเห็นวิถีชีวิตของชุมชน ที่มีการปลูกยาเส้น บางครอบครัวปลูกก่อนลงต้นสวนยางพารา บางครอบครัวทำการปลูกยาเส้นอย่างเดียว แต่ก็มีสัดส่วนน้อยกว่าการทำสวนผลไม้ ที่ได้ราคาดีกว่า เสน่ห์ของการทำยากลาย อยู่ที่การหั่นใบยาให้เป็นฝอยๆ เป็นเส้นที่สม่ำเสมอ ต้องรู้จักใช้อุปกรณ์ในการหั่น และความชำนาญในการทำ เด็กและเยาวชนควรที่จะเรียนรู้ และน่าจะพัฒนานำนวัตกรรมมาช่วยในการผลิตยามากยิ่งขึ้น และปัจจุบัน ยังมีจำนวนครอบครัวที่ยังคงสืบสานการปลูกยากลาย จำนวนไม่มากมัก แต่ก็ยังมีหลายครอบครัวที่ดำเนินการเรื่องนี้ บริเวณสองฝั่งแม่น้ำกลาย ยังคงสภาพอยู่ และในตัวอำเภอท่าศาลา มีโรงงานบ่มยา และรับซื้อยาที่ส่งอออกไปขายในจังหวัด และต่างจังหวัด บริเวณโรงงานที่รับซื้อ ยังคงเหลือ 1 โรง เราเยาวชนรุ่นหลังควรจะต้องเรียนรู้วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ บ้านเกิดของตนเองให้ได้อย่างท่องแท้ และอย่างเข้าใจในการสืบสาน และพัฒนา สืบสาน ต่อยอดผลผลิตให้มีความเป็นทันสมัยต่อไป
ที่มาข้อมูล : อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศีธรรมราช
ขอขอบคุณ :
ข้อมูลเพิ่มเติมครูภูมิปัญญา “การแปรรูปทางการเกษตร ยาเส้น “ยากลาย”
นายนิวัฒน์ ดิมาร
เกิดวันที่ 12 กันยายน 2502 ปัจจุบัน อายุ 60
เบอร์โทรติดต่อ 0987090528