ชาวประมงพื้นบ้านอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอท่าศาลาเป็นอำเภอที่อยู่ติดทะเลอ่าวไทยตอนกลางทะเลทอดยาวจากอำเภอเมือง อำเภอท่าศาลา อำเภอสิชล และอำเภอขนอม ตลอดแนวอำเภอท่าศาลาจะมีประชาชนกลุ่มประมง ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม วิถีชีวิตกลุ่มประมง ออกเรือไปหาปลา กุ้ง ปู ในทะเลนำทรัพยากรมาจำหน่ายสู่ตลาดในท้องถิ่น และตลาดในเมืองท่าศาลา และในตัวอำเภอเมือง เพื่อส่งออกไปจำหน่ายให้กับประชาชนต่างอำเภอและต่างจังหวัดต่อไป สิ่งหนึ่งที่เป็นศาสตร์ความรู้ที่น่าสนใจของการประกอบอาชีพประมง นอกจากเทคนิคความชำนาญในการสังเกตลักษณะน้ำ พันธุ์ปลาต่าง ๆ เครื่องมือทำมาหากิน ก็คือเรือ เรือเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นพาหนะในการที่จะนำชาวประมงออกสู่ทะเล เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของพวกเขาที่ต้องมีการดูแลเอาใจใส่เมื่อชำรุดก็ต้องนำเรือมาซ่อมแซม บำรุงรักษาหรือสร้างขึ้นมาใหม่
ภูมิปัญญาในเรื่องนี้
- ครอบครัวนายกาหรีม หลงจิ ซึ่งท่านมีอาชีพทำเรือประมง และมีการถ่ายทอดองค์องความรู้ให้กับบุตรชาย ทั้งสองคน คือ นายกาหลิ หลงจิ นายอลิ หลงจิ ได้สืบทอดองค์ความรู้ให้กับบุตรทั้งสองเป็นช่างต่อเรือประมงพื้นบ้าน
- บังหรีม
- นายบังสาน
- นายบังหมูด
ในที่นี้ได้ไปสัมภาษณ์และถอดองค์ความรู้การต่อเรือประมงพื้นบ้าน จากนายบังหมูด พงเลิศ เกิดเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2496 ปัจจุบันอายุ 64 ปี อยู่บ้านเลขที่ 229/1 ม.5 บ้านในทุ่ง ต.ท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เดิมเป็นอำเภอร่อนพิบูลย์ มาตั้งรกรากปักฐานมีครอบครัวที่อำเภอท่าศาลา เมื่อปี 2517 มีบุตรจำนวน 6 คน จุดเริ่มต้นเป็นลูกจ้างอู่ต่อเรือพานิชในตัวอำเภอท่าศาลา เป็นเวลา 3 ปี เมื่อเกิดความชำนาญ จึงเริ่มหันมารับจ้างต่อเรือด้วยตนเอง เมื่อปี พุทธศักราช 2521 จนถึงปัจจุบัน ด้วยฝีมือและความเชี่ยวชาญในการต่อเรือประมงพื้นบ้านเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในระดับชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน ราคาว่าจ้างต่อลำประมาณ 40,000 ถึง 50,000 บาท ต่อเรือ 1 ลำ โดยผู้จ้างดำเนินการออกค่าใช้จ่ายในการจัดหาและจัดซื้อวัสดุให้ครบทุกอย่าง ช่างต่อเรือดำเนินการออกแรงทำเพื่อให้ได้มาซึ่งลำเรืออย่างเดียว การดำเนินการไม่มีพิมพ์เขียว เป็นการสร้างจากการตกลงกับผู้ว่าจ้างจนเข้าใจ ขนาด รูปทรง ก็ลงมือทำการต่อเรือ
วัสดุอุปกรณ์ในการทำ
- ไม้ตะเคียนทอง
- เลื้อยตัดไม้
- กบไสไม้
- สว่าน
- น็อต
- ตะปู ขนาด 3-4 นิ้ว
- เหล็กต้นแบบวัดขนาดของกงเพื่อใช้ขึ้นรูปกง
- กากีบ (ตัวค้ำไม้ให้โค้งงอตามความต้องการ
- ขี้ชัน
- น้ำมันยาง
- จารบี
- ปูนแดง กรณีที่ซ่อมแซมลำเรือเก่าลูกค้าต้องการใช้ไฟเบอร์ แทนการอุดรอยรั้วด้วยขี้ชันเพื่อปิดตัวเรือเคลือบทั้งลำเรือไม่ให้น้ำรั่วซึมเข้ามาในลำเรือได้ ส่วนปะกอบ ด้วย ใยแก้ว(คล้ายๆ ผ้ามุ้ง ) ดินไฟเบอร์ น้ำยาไฟเบอร์ และตัวเร่งทำให้แข็งจับตัวเร็ว (ใช้ 2-3 ช้อนชา) ใช้เวลา 1-2 วัน ขั้นตอนการลงไฟเบอร์ ห้ามโดนน้ำหรือน้ำฝน ดังนั้น จะต้องทำในช่วงที่ฝนไม่ตก มิฉะนั้นขั้นตอนการติดไฟเบอร์ก็จะไม่ได้ผล
ขั้นตอนกระบวนการผลิต / วิธีทำ (Know how)
ในขั้นเตรียมการจะประกอบด้วย เตรียมหาไม้ตามชนิดที่ต้องการใช้งาน การนำต้นไม้มาใช้การทำลำเรือจะต้องดูความกว้าง ความสูงของลำต้นเป็นสำคัญ กล่าวคือ จะต้องมีขนาดรอบโคนต้น ความกว้างของเนื้อไม้ 150-200 เซนติเมตร ความสูง 10-12 เมตร จึงตัดมาทำเรือได้ และเตรียมเครื่องมือที่ใช้ในการต่อเรือทุกชนิด พอได้พร้อมตามเนื้องานแล้วจึงดำเนินขั้นตอนการต่อเรือ ซึ่งสามารถแบ่งขั้นตอนได้ ดังนี้
- วางกระดูกงู เป็นขั้นตอนแรกของการต่อเรือ กระดูกงูเปรียบได้กับสันหลังของคนจึงต้องวางไม้กระดูกงูที่ดัดโค้งไปตามรูปท้องเรือให้โค้งกับน้ำ (ตามเครื่องวัดระดับด้วยปรอทและขึงเชือกให้ตรง) กระดูกงูเสร็จ โดยหาไม้แกนสำคัญ ขนาดความหนา 2-2.5 นิ้ว กว้าง 1 นิ้ว ขนาดความยาวของกระดูกงูไม้ควรน้อยกว่า 10 เมตร
- ตั้งโขนเรือหรือทวนหัว โขนคือไม้ที่เสริมหัวเรือและท้ายเรือให้งอนเชิดขึ้น (เรียกว่าแม่ย่านาง) โขนจะต่อมาจากกระดูกงูเรือ
- ขึ้นไม้กระดานตัวลำเรือข้างละ 4 แผ่น ขนาดความยาวต้องมากกว่ากระดูงู ถ้ากระดูงูยาว 10 ไม้กระดานต้องยาว 12-13 เพราะต้องไปตีเชื่อมกับโขนที่ยึดติดกับลำเรือ ทั้งสองข้างมีกงพรางจำลองเพื่อต้องการมิให้ไม้กระดานหุบเข้าไปข้างใน ช่วงที่ขึ้นไม้กระดานแผ่น 1-2 จะต้องใช้ไฟลนไม้กระดานให้อ่อนตัวเพื่อจัดรูปทรงโค้งงอได้ตามความต้องการของนายช่างและไม่ทำให้ไม้แตกหักจากการดัด ตไม้กระดานแผ่นที่ 3-4 ทั้งสองข้างของลำเรือไม่ต้องใช้ไฟลน ให้กากีบและตัว(กงพราง) หรือตัวกงจำลอง
- วางกงเป็นโครงเรือ วางพาดไปตามความยาวของเรือเป็นหลักให้กงตั้งซึ่งจะติดกับกงยาก กงตั้งจะโค้งไปตามลักษณะความลึกของท้องเรือ ตั้งแต่หัวเรือขนานกันไปเรื่อย ๆ จนถึงท้ายเรือ
- ขึ้นกระดานเรือ คือการวางกระดานเรือต่อจากแผ่นที่ 4 ต่อไม้กระดานขึ้นไปด้านบนอีก ข้างๆ ละ 5 แผ่น เพื่อให้เป็นรูปเรือ และตามความสูงของเรือ โดยใช้ตาปูยึดไม้กระดานกับแกน
- ใช้ตัวถีบขึ้นจุดส่วนหัวเรือ กลาง และส่วนท้ายของลำเรือ เพื่อให้ได้ความกว้างสมส่วนตามกับความยาวของลำเรือ
- ขั้นตอนการทำกงมือลิง หรือวางตะเข้เรือ ทับกับกงตั้งอีกทีหนึ่งเพื่อให้เรือแข็งแรง เสริมกระดูกงูให้แข็งแรงขึ้นเริ่มต้นจากหัวเรือไปท้ายเรือ มีขนาดความหนาประมาณ 4-5 นิ้ว ตัดเป็นรูปทรงโค้งงอตามขนาด (ส่วนนี้คล้าย ๆ กับซี่โครงของมนุษย์) ซึ่งจะนำมาวางด้านในของท้องเรือ สลับไปมาทางด้านซ้ายและด้านขวา การวางรูปแบบฟันปลา โดยวางจุดเริ่มต้นตั้งแต่จุดกลางของลำเรือ กรณีที่กระดูงูยาว 9 เมตร ความกว้างของลำเรือ 285 เซนติเมตร การวงกงเรือจะต้องวางจากจุดกึ่งกลางของลำเรือวางขึ้นไปด้านบนของลำเรือ ด้านท้ายของลำเรือ ระยะห่างระหว่างกง 15 เซนติเมตร การวางกงเรือสลับไม้กง ไม้กงวางด้านหลังของกงเพื่อไปหาส่วนท้ายเรือและหัวเรือ
- ปากถ้วย การหุ้มของแกมเรือ ใช้สำหรับการลากอวนไม่ให้อวลติดหัวกง
- ลูกกล้วย ( ราวทู) สำหรับเรือใหญ่ ให้สวยงาม และกันน้ำสาดเข้าลำเรือ เวลาเรือเล่นการโต้คลื่น น้ำจะไปปะทะกับลูกกล้วย และทำให้เรือ
- ตัวโขน – โขนท้าย เป็นตัวสูงขึ้นมาจากหัวเรือและท้ายเรือ การตกแต่งประดับให้เกิดความสวยงามตามเอลักษณ์ของชุมชน
- การขัดไม้ของลำเรือด้านนอกเพื่อให้เรียบ และเกิดความสวยงาม
- ตอกหมันด้วยการนำด้ายดิบผสมชันยาเรือ พร้อมไปกับน้ำมันยางผสมปูนแดงเพื่ออุดรูสลักและรอยต่อระหว่างแผ่นกระดานเพื่อป้องกันน้ำรั่วเข้าไปภายในเรือ
- ทาสีเรือ เพื่อกันแดดกันฝน กันน้ำ กันตัวเพรียง บริเวณท้องเรือและกระดานเรือมักนิยมทาสีเขียว ส่วนราโทและกาบอ่อนมักจะทาสีส้มกับสีขาว
- วางเครื่องยนต์ไว้ของตัวเรือ บริเวณส่วนท้องเรือมีไม้สองท่อนวางขนานกันและเชื่อมกับใบทวนเรือซึ่งยื่นออกไปหลังหลักทรัพย์ท้ายเรือ
บังหมูด กล่าวว่า “ หาคนที่จะมาต่อเรือ และรับช่วงต่อจาตนเองยากมาก แม้แระทั่งลูก ๆ ก็ไม่สนใจ เพราะเป็นงานกรรมกร เหนื่อย ต้องตากแดด ตากลม เพราะเราใช้วิถีชีวิและการทำที่ริมชายฝั่ง เรือ 1 ลำ ต้องใช้เวลาหลายเดือน ต้องใช้ความอดทน ความพยายาม ใจสู้ เพื่อให้งานสำเร็จ การทำงานแข่งกับตัวเอง” จุดเด่นของภูมิปัญญาการทำเรือประมงของนายมังหมูด หลงจิ ทำโดยไม้ต้องมีแบบพิมพ์เขียวในการสร้างเรือแต่ละลำ ขึ้นโครงสร้างของลำเรือตามขนาดของผู้ว่าจ้างเป็นหลักว่าต้องการขนาดลำเรือกว้างยาวเท่าไหร่ การออกแบบโครงและสร้างฐานตามแบบฉบับของเขา และออกแบบไปทำไปตามองค์ความรู้ที่มีจากการประสบการณ์ที่ สั่งสมจนเกิดความชำนาญ ไม่มีวิชาที่สอนให้ทำในสถาบันการศึกษา แต่เป็นสถาบันชีวิตที่ต้องเรียนรู้ และฝึกจากการสั่งสมประสบการณ์ของตนเองมาตลอดชั่วชีวิต ผู้ที่หลงใหลลำเรือว่าด้วยการต่อเรือเป็นศาสตร์และศิลป ที่น่าควรยกย่อง และเข้าไปเรียนรู้ เพื่อรุ่นเยาวชนได้เห็นคุณค่าและสืบสานต่อยอดและควรค่าแก่การอนุรักษ์
ที่มาข้อมูล : อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศีธรรมราช
ขอขอบคุณ :
ข้อมูลเพิ่มเติมครูภูมิปัญญา “การต่อเรือประมงบ้านพื้นบ้าน”
นายบังหมูด พงเลิศ
เกิดวันที่ 19 มกราคม 2496 ปัจจุบันอายุ 64 ปี
เบอร์โทรติดต่อ –