หัตถกรรมที่อยู่คู่กับชุมชนในนครศรีธรรมราชเป็นเวลาหลายร้อยปีแหล่งสำคัญที่มีการผลิตมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันคือ ที่บ้านปากพะยิงในอำเภอท่าศาลา อยู่ห่างจากชุมชนโบราณ วัดโมคลาน ทางทิศเหนือราว 100 เมตร มีลำน้ำสายหนึ่งชื่อ “คลองโต๊ะแน็ง” หรือ “คลองควาย” หรือ “คลองโมคลาน” ห่างจากคลองโต๊ะแน็งมาทางเหนือราว 1 กิโลเมตร มีลำน้ำอีกสายหนึ่งชื่อ “คลองชุมขลิง” (หรือ “คลองยิง” หรือ “คลองมะยิง” คลองทั้งสองนี้ไหลผ่านสันทรายอันเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณโมคลานไปลงทะเลอ่าวไทยทางทิศตะวันออก ระหว่างคลองทั้ง 2 สายนี้ เป็นบริเวณที่ชุมชนแห่งนี้ทำเครื่องปั้นดินเผามาแต่โบราณ และมักจะเรียกกันว่า “แหล่งทำเครื่องปั้นดินเผาโมคลาน” หรือ “แหล่งทำเครื่องปั้นดินเผาบ้านยิง” อยู่ในหมู่ที่ 9 ตำบลหัวตะพาน และหมู่ที่ 10 และหมู่ที่ 11 ตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา เนื้อที่ที่ใช้เพื่อการนี้ทั้งที่เคยใช้มาแล้วแต่โบราณ และกำลังทำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ประมาณ 30 – 40 ไร่ เมื่อ พ.ศ. 2521
ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช โดยอาจารย์ชวน เพชรแก้ว และคณะ ได้เริ่มเข้าไปดูการทำภาชนะดินเผาที่บ้านมะยิง พบว่า บริเวณนี้เต็มไปด้วยเนินดินขนาดใหญ่ที่ทับถมด้วยเศษภาชนะดินเผา ชาวบ้านเคยขุดดินบนเนินเพื่อขยายเตาเผาออกไปอีก พบว่าเศษภาชนะดินเผาที่ทับถมกันอยู่ลึกมาก และได้พบเศษดินเผารุ่นเก่าเป็นดินเผาเนื้อแกร่งเป็นจำนวนมาก ลายบนภาชนะดินเผาที่พบมีหลายลาย เช่น ขุดร่องแถวนอก ประสมด้วยลายจุดประ ลายประทับเป็นรูปอักษรเอส (S) และลายประทับรูปต้นไม้ที่มียอดคล้ายหัวลูกศร เป็นต้น ลายประทับหลากลายที่มีลักษณะคล้ายกับลายภาชนะดินเผาแบบทราวดีที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีบ้านคูเมือง อำเภอสิงห์บุรี จากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ชุมชนในบริเวณแห่งนี้ ได้มีการทำเครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่โบราณกาล สำหรับเครื่องปั้นดินเผาที่บ้านมะยิงแห่งนี้ เกิดในยุคสมัยใดไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด มีแต่คำบอกกล่าวต่อ ๆ กันมาว่า ในสมัยก่อนรัตนโกสินทร์ หมู่บ้านแห่งนี้เป็นที่เลี้ยงม้าของท่านขุนคนหนึ่ง เพราะหมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านที่มีความอุดมสมบูรณ์มีน้ำล้อมรอบ มีทุ่งกว้างทางตะวันตก และหมู่บ้านแห่งนี้ เป็นหมู่บ้านที่เลี้ยงม้าที่ยิ่งใหญ่มาก คนเลยเรียกว่า บ้านม้ายิ่ง ต่อมาหมู่บ้านนี้ได้เกิดโรคระบาดทำให้มีคนล้มตายและที่เหลืออพยพหนีออกจากหมู่บ้านไปเกือบหมด ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณปี พ.ศ. 2425 ชาวบ้านมะยิงในตอนนั้นมีคนอาศัยไม่กี่ครอบครัว และหนึ่งในจำนวนนี้ คือ ครอบครัวของนางด้วง – นางนาค ก็ทำเครื่องปั้นดินเผา จำพวกหม้อหุงข้าว หม้อต้มยา ทำให้ครอบครัวนี้ผลิตหม้อเพิ่มขึ้นและมีความเป็นอยู่มี่ดีขึ้น นักปั้นหม้อ นักปั้นหม้อ ที่บ้านมะยิง มีทั้งผู้ที่ดำเนินการผลิตโดยสืบทอดมาจากบรรพบุรุษหลายชั่วคน สามารถบอกเล่าถึงเทคนิคดั้งเดิม ที่ปัจจุบันสูญหายไปได้และผู้ที่เพิ่งเข้ามาดำเนินการผลิตที่นำเทคนิคจากภายนอกเข้ามาประยุกต์ใช้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- นางเกยูร ชลายนต์นาวิน (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) บ้านเลขที่ 95 หมู่ที่ 6 บ้านมะยิง ตำบลโพธิ์ทอง อำเภอท่าศาลา จังหวัด นครศรีธรรมราช อายุ 60 ปี เรียนรู้การปั้นหม้อจากมารดาและบิดา มารดา ชื่อ นางเลียบ บัวแก้ว เป็นชาวบ้านมะยิง บิดาเป็นชาวมอญ ชื่อนายเหลียน มาจากปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
รู้วิธีการปั้นหม้อแบบมอญ และนำเทคนิคการเผาและสร้างเตาระบายความร้อนแนวเฉียง (เตานอน) แบบมอญมาปรับใช้แทนเตาเผาแบบเดิม ซึ่งเป็นเตาแบบระบายความร้อนแนวตั้ง (เตายืนเตากลม) ซึ่งเตานี่พัฒนามาจาการขุดจอมปลวกเข้าไป เพื่อใช้เป็นเตา (เตาปลวก) - นางสุดา บุญสิน ตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช มาตั้งเตาเผาเครื่องปั้นดินเผา ริมถนนสาย ท่าศาลา–นครศรีธรรมราช โดยเรียนรู้เทคโนโลยีการทำหม้อจากบรรพบุรุษ และกลุ่มนักปั้นหม้อที่บ้านมะยิง โดยจ้างช่างสร้างเตาเผา (บาท 1 ช่างสร้างเตาเผามาจากจังหวัดราชบุรีชื่อนายเจริญค่าจ้างสร้างเตาเผาแบบเตา 0001 นอน
- ครอบครัวนางจำเป็น รักเมือง ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 18 หมู่ที่ 6 ตำบลโพธิ์ทอง อำเภอท่าศาลา จังหวัด นครศรีธรรมราช ปัจจุบัน มีลูกหลานสืบทอดกิจกรรมของครอบครัว และยังผลิตเครื่องปั้นดินเผาเพื่อจำหน่ายในการเลี้ยงครอบครัว ลายบนภาชนะดินเผาที่พบมี ลายขูดร่องแถวนอกประสมด้วยลายจุดประ ลายประทับเป็นรูปอักษรเอส (s) ลายประทับรูปต้นไม้ที่มียอดคล้ายหัวลูกศร ลายประทับหลายลายที่มีลักษณะคล้ายกับลายภาชนะดินเผาแบบทวารวดีที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีบ้านคูเมือง อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เมื่อ พ.ศ. 2524 ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันราชภัฎนครศรีธรรมราช ได้เข้าไปสำรวจจำนวนผู้ที่ยังคงทำภาชนะดินเผาอยู่ ณ แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ ปรากฎผลว่ามีผู้ที่ยังคงทำภาชนะดินเผาอยู่จำนวน 13 ราย คือ อยู่ในหมู่ที่ 9 ตำบลหัวตะพาน 9 ราย และหมู่ที่ 11 ตำบลโมคลาน 3 ราย
นายจ่าง สุวพันธ์ อดีตครูใหญ่โรงเรียนวันสระประดิษฐาราม หมู่ที่ 7 ตำบลหัวตะพาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า เมื่อตนได้เข้ามาในชุมชนนี้ในปี พ.ศ.2477 มีผู้ทำภาชนะดินเผาราว 20 ครัวเรือน และสอบถามผู้เฒ่าในขณะนั้นดูได้ความว่าทำมานาน และทำต่อเนื่องกันมาโดยตลอด ดังที่ได้ปรากฏเนินดินและเตาเผาที่มีเศษภาชนะดินเผาทับถมกันอยู่นั้น ในขณะนั้นนิยมทำเตาเผาโดยการขุดเนินจอมปลวกให้เป็นโพรงภายในโพรงนั้น จะมีลักษณะเป็นห้องหรืออุโมงค์สำหรับวางภาชนะในขณะที่เผาส่วนยอดจอมปลวกก็ตัดให้เป็นช่องขนาดใหญ่ เตาชนิดนี้ด้านข้างถูกเจาะเป็นที่สุมไฟ และด้านบนเป็นช่องระบายความร้อนและลำเลียงภาชนะขึ้นลงเมื่อจะนำเข้าและออกจากเตาเผาครั้งหนึ่ง ๆ ถ้าภาชนะที่เผามีขนาดไม่โตนัก เช่น หม้อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 6 นิ้ว จะได้ราว 200 ใบ เตาเผาแบบนี้นับว่าเป็นเตาเผาที่ทำอย่างง่าย ๆ และเป็นที่สืบทอดกันมาแต่ตั้งเดิม และยังทำต่อมาจนบัดนี้โดยมิได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดเลย เรียกว่า “เตาหลุม” อันเป็นเตาแบบดั้งเดิม แบบหนึ่ง และเป็นต้นแบบของเตาเผาแบบระบายความร้อนขึ้น เนื่องจากช่องระบายความร้อนกว้างมาก เมื่อเผาภาชนะจึงต้องใช้เศษภาชนะดินเผาที่แตก ๆ วางซ้อน กันขึ้นไปบนภาชนะที่จะเผาอีกทีหนึ่ง เพื่อช่วยรักษาความร้อนมิให้พุ่งออกไปทางด้านบนของเตาเร็วเกินไป เตาแบบนี้ให้ความร้อนไม่สูงพอและควบคุมอุณหภูมิไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถทำภาชนะดินเผาแบบเคลือบได้ นายจ่าง สุวพันธ์ ได้เคยทดลองทำภาชนะดินเผาเคลือบโดยใช้เตาเผาแบบนี้แล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จ
การศึกษาจากผู้มีประสบการณ์ในการทำภาชนะดินเผาในอดีตและปัจจุบัน ในชุมชนโบราณแห่งนี้ ทำให้ทราบว่ากรรมวิธีในการผลิตภาชนะดินเผา ณ ชุมชน โบราณแห่งนี้ในปัจจุบันไม่แตกต่างไปจากที่เคยทำมาเมื่อสมัยโบราณเลย โดยมีขั้นตอนการผลิต ดังนี้
วัตถุดิบประกอบด้วย
- ดิน
- ทราย
- น้ำ
อุปกรณ์ประกอบด้วย
- เสียบหรือจอมด้ามสั้น
- ถังน้ำ
- เครื่องคลุมดิน
- ลานหรือหลุม
- เครื่องโม่
- กระดานรองนวด
- เครื่องชั่งน้ำหนัก
- กระดานสำหรับรองแท่นดิน
- ไม้ตีลาย
- ลูกถือ
ขั้นตอนการผลิต มี 4 ขั้นตอน ดังนี้ คือ
- การเตรียมดิน 2. การปั้นขึ้นรูป 3. การตกแต่ง 4. การเผา
วิธีทำ
- นำดินเหนียวมาจากบริเวณที่ราบลุ่มต่ำเรียกว่า “ทุ่งน้ำเค็ม” ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านมะยิง มายังบริเวณที่ตั้งเผาบนสันทราย เอาดินเหนียวที่ได้มา ซึ่งมีความชื้นพอเหมาะที่จะทำภาชนะดินเผาได้ ก็จะพรมน้ำเอาผ้าคลุมแล้วเก็บไว้ แต่หากดินเปียกเกินไปต้องวางให้หมาดเสียก่อน เอาดินที่เตรียมไว้มาสับเป็นชิ้นด้วยไม้ไผ่บาง ๆ ซึ่งเรียกว่า “ไม้ไผ่ฉาก” เพื่อให้เนื้อดินเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน
- นำดินที่สับเป็นเนื้อเดียวกันดีแล้วนั้น มาคลุกผสมด้วยทรายละเอียด ใช้เท้านวดย่ำและคลุกเคล้าด้วยมือให้เนื้อดินกับทรายเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วเอาผ้าคลุมไว้ เป็นที่น่าสังเกตว่าการทำภาชนะที่นี่ไม่ได้มีแกลบข้าวเป็นส่วนผสม (โดยปกติการทำภาชนะดินเผาในที่อื่น ๆ มักจะใช้แกลบข้าวหรือผงเชื้อ คือดินผสมแกลบเผาแล้วตำป่นละเอียดมาผสมกับดินเหนียวที่จะใช้ทำภาชนะดินเผา และการใช้แกลบเป็นส่วนผสมนี้มีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคหินกลางประมาณ 9,000 ปีมาแล้ว อย่างที่ถ้ำผี จังหวัดแม่ฮ่องสอนส่วนที่แหล่งโบราณคดีโนนนกทา จังหวัดขอนแก่น และที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี จากการวิเคราะห์เศษภาชนะดินเผาก็พบว่ามีการใช้แกลบข้าวเช่นนี้ และใช้ต่อมาจนปัจจุบันนี้ที่บ้านคำอ้อ ซึ่งอยู่ไม่ห่างไปจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง นักโบราณคดีบางท่านจึงตั้งข้อสังเกตว่าการทำภาชนะดินเผาที่บ้านคำอ้อน่าจะทำต่อเนื่องมาจากวัฒนธรรมบ้านเชียง)
- นำดินที่เตรียมไว้แล้วมาขึ้นรูปโดยใช้แป้นหมุน แป้นหมุนที่ใช้ในแหล่งนี้มีทั้งแป้นหมุนชิ้นเดียว (ซึ่งพบว่าแป้นหมุนลักษณะนี้เริ่มมีการใช้ครั้งแรกที่เมืองเออร์ (ur) ในสุเมอร์ เมื่อประมาณ 4,000 – 35,00 ปีมาแล้ว) และแป้นหมุน 2 ชิ้น (ซึ่งพบว่ามีใช้ครั้งแรกที่เมืองฮาเซอร์ (Hazor) ในอียิปต์เมื่อประมาณ 3,300 ปีมาแล้ว) แป้นหมุนนั้นในชุมชนนี้เรียกว่า “มอน” ในขณะใช้แป้นหมุนขึ้นรูปนั้น จะใช้น้ำประสานซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “น้ำเขลอะ” คือ น้ำละลายด้วยดินเหนียวให้ข้นชุบผ้าลูปไปตามผิวภาชนะรูปทรงที่ต้องการในขณะที่อีกคนหนึ่งช่วยหมุนแป้นข้างในภาชนะใช้ลูกถือ (หินดุ) ซึ่งชุมชนนี้เรียก “ลูกเถอ” ตกแต่งในขณะขึ้นรูป
- ตกแต่งและต่อหู (หากมีหู) หลังจาที่ขึ้นรูปเรียบร้อยแล้ว ใช้เชือกที่ทำจากใยใบสับปะรดตัดที่ก้นให้ก้นภาชนะหลุดออกจากแป้นหมุน นำภาชนะที่ขึ้นรูปเรียบร้อยแล้วมาวางให้หมาดแล้วฝากระป๋องขูดตกแต่งผิว จากนั้นจึงใช้ลูกสะบ้าถูที่ผิวเป็นการขัดมัน
- แต่งผิวภายในด้วยลูกถือ ส่วนภายนอกใช้ไม้แบบตีให้เป็นลาย หรือกดลายประทับตามต้องการ ลูกถือ ไม้ตีลาย กดลายประทับ
- วางภาชนะไว้ในที่ร่ม ราว 3 – 4 วัน จนภาชนะนั้นแห้งสนิท (ไม่นิยมตากแดดเพราะภาชนะจะแตก) เมื่อภาชนะแห้งสนิทแล้ว นำเข้าเตาเผาแบบหลุมโดยมีชั้นสำหรับวางภาชนะ (Fire bars) รองรับ วางภาชนะซ้อนทับกันขึ้นมาราว 100 – 200 ใบ เมื่อภาชนะซ้อนกันขึ้นมาจนถึงปากอุโมงค์ของเตาแล้ว เอาเศษภาชนะดินเผาที่แตก ๆ และมีขนาดใหญ่ ๆ ปิดบนภาชนะเหล่านั้นจนเต็มฅ
- สุมไฟตอนล่างของหลุมทางช่องของเตาหรืออุโมงค์ที่ขุดไว้สำหรับสุมไฟ (มีเพียงช่องเดียว) เมื่อไฟลุกจะเผาภาชนะซึ่งวางอยู่บนชั้นข้างบน ควันและความร้อนจะระบายออกทางปากอุโมงค์ เตาหลุมแบบนี้จะให้ความร้อนไม่เกิน 800 – 900 องศาเซลเซียส ภาชนะดินเผาที่ได้จากการเผาด้วยเตาหลุมแบบนี้จึงไม่แกร่งพอมีความพรุน ดูดซึมน้ำได้ดี เวลาจับต้องจะหนึบมือ เนื้อดินยังหลอมติดไม่ค่อยสนิทเพราะอุณหภูมิในขณะที่เผายังต่ำต้องระมัดระวังเรื่องความร้อนมาก ต้องควบคุมเรื่องการสุมไฟอยู่ตลอดระยะเวลาแห่งการเผา กล่าวคือ ตอนเริ่มเผาให้ใช้เพียงควันไฟผ่านภาชนะเท่านั้น ระยะนี้จึงมักจะใช้วัสดุหรือไม้ที่ให้ควันได้ดี เช่นไม้ผุ และกาบมะพร้าว หากให้ไฟแรงในระยะแรกภาชนะจะแตก รมควันดังกล่าวนี้ 6 ชั่วโมง จึงจะให้ไฟแรงได้ซึ่งการรมตอนนี้ชาวบ้านเรียกว่า “รมเบา” เมื่อรมเบาผ่านไปแล้วก็ให้ไฟแรง ขั้นนี้ชาวบ้านเรียกว่า “รมหนัก” หรือ “โจ้หม้อ” โดยใช้ฟืนที่ให้ความร้อนสูง และต้องควบคุมอยู่ตลอดเวลา ใช้เวลารมหนักราว 3 – 5 ชั่วโมงจึงเอาฟืนออกจากเตาให้หมด แล้วเปลี่ยนเป็นรมควันอีกเพื่อให้ภาชนะมีผิวสวยไม่ดำ เมื่อไฟดับสนิทและภาชนะภายในเตาเย็นตัวดีแล้วจึงเอาภาชนะที่เผาแล้วออกจากเตาได้โดยลำเลียงออกมาทางปากอุโมงค์ซึ่งจะได้ภาชนะที่สวยงาม ในราว พ.ศ. 2489 – 2490 มีการผลิตภาชนะดินเผาในชุมชนโบราณแห่งนี้กันมากที่สุด เพราะเป็นระยะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งภาคใต้ได้ประสบวิกฤตการณ์จากสงครามครั้งนี้ด้วย ทำให้มีผู้ต้องการใช้ภาชนะดินเผามากเป็นพิเศษ สิ่งที่ผลิตในระยะนั้นคือ โอ่งน้ำ อ่าง สวด หม้อข้าว หม้อแกง กระทะ ขัน กรอง (กะชอน) เนียง (คล้ายไห ส่วนปากกว้างกว่า) และกระถาง โดยทำได้วันละ 100 – 150 ใบต่อคน เส้นทางลำเลียงภาชนะดินเผาออกขายในสังคมภายนอกขณะนั้นคือ คลองโต๊ะแน็ง และคลองชุมขลิง โดยใช้เรือใบบรรทุกมาส่งที่ท่าแพและท่าโพธิ์ อันอยู่ในบริเวณเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อลำเลียงต่อไปยังปากพนัง เกาะสมุย สิชล ปากนคร และปากพญา เรือใบแต่ละลำบรรทุกภาชนะดินเผาได้ราวเที่ยวละ 1,000 – 2,000 ใบ แต่ละครอบครัวบรรทุกออกไปขายเดือนละ 1 เที่ยว ราคาขายในระยะนั้น อย่างหม้อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 นิ้ว ขายราคาร้อยละ 3 บาทถึงปี พ.ศ.2541 ราคาใบละประมาณ 50 – 100 บาท ถ้าใครผ่านไปแถวตำบลโพธิ์ทอง อำเภออำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช จะเห็นเครื่องปั้นดินเผามากมายขายอยู่ริมทาง ทำให้ผู้ที่สัญจรผ่านไปมาอดใจไม่ไหวต้องจอดแวะมาเลือกซื้ออยู่ตลอดสองฝั่งถนน นับเป็นการสร้างรายได้สร้างอาชีพให้กับชุมชนบ้านมะยิง ชุมชนที่ยังสืบทอดการทำเครื่องปั้นดินเผาจากบรรพบุรุษ
นางจำเป็น รักษ์เมือง ประธานกลุ่มเครื่องปั้นดินเผากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านมะยิง หมู่ที่ 6 ตำบลโพธิ์ทอง อำเภอท่าศาลา เล่าให้ฟังว่า อาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาในชุมชนทำกันมาโบราณนานมากสืบทอดกันมาประมาณ 100 ปี สมัยก่อนทำเครื่องปั้นดินเผาพื้นเมืองแบบโบราณ จะปั้นหม้อยาส่วนใหญ่ สมัยพ่อแม่ คนรุ่นเดิม ๆ จะทำกันเป็นระบบครอบครัวจากเดิมทำกันแค่ 1-2 ครอบครัว ปัจจุบันเป็นกลุ่ม 10 กว่าครัวเรือน สมัยก่อนดินที่ในหมู่บ้าน ดินดีเป็นดินเหนียวอยู่ในทุ่งเค็มในทุ่งนาบ้านมะยิง
นางจำเป็น รักษ์เมืองหรือยายเอียด เป็นอีกคนหนึ่งคนที่มีความภาคภูมิใจมากที่เอา โคมไฟ เครื่องปั้นดินเผาที่ทำกับมือ ส่งเข้าประกวดและก็ได้รับรางวัลสินค้าโอท็อป ชนะเลิศ 4 ดาว สร้างความภูมิใจให้ตัวเองและให้ชุมชน ได้เล่าถึงอาชีพนี้ว่า “รู้สึกดีใจที่ได้รักษาอาชีพเครื่องปั้นดินเผาต่อจากพ่อแม่ ที่ทำมาเพราะใจรักมีความสุข สร้างรายได้เลี้ยงลูกถึง 6 คน ได้จนถึงปัจจุบัน ก่อนที่จะคิดรวมกลุ่มมีปัญหาเรื่องของการทำเครื่องปั้นดินเผา แต่ก่อนต่างคนต่างครอบครัวก็ทำกันมา แล้วก็ขายแข่งกันแล้วมีการขายตัดราคา ช่วงนั้นมีปัญหาขายไม่ได้ เลยมาคิดรวมกลุ่มกันแล้วก็มีการพูดคุยกันในการตกลงเราจะขายสินค้าราคาเหมือนกัน หลังจากจัดตั้งกลุ่ม เครื่องปั้นดินเผากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านมะยิง ขึ้นเมื่อปี 2541 ก็รวมตัวทำกันมา ตอนนั้นสินค้าที่ทำก็มีคนสนใจ ขายดีเพราะตอนนั้นอยู่ในช่วงเศรษฐกิจดี ราคายางก็ดีด้วย ขายดินเผาได้วันละ 40,000-50,000 บาท สร้างรายได้ให้กับกลุ่มอย่างมาก พอถึงสิ้นปีก็ปันผลกำไรหลังจากหักค่าใช้จ่ายดำเนินการออกไป จึงปันผลเป็นสิ่งของใช้ให้สมาชิก ทำสวัสดิการเจ็บป่วยรักษาพยาบาลด้วย จากนั้นได้มีหน่วยงาน กศน.ตำบลโพธิ์ทองอำเภอท่าศาลา และหน่วยงานอื่น ๆ ของทางราชการมาที่กลุ่มและแนะนำสนับสนุนให้ยกระดับงานฝีมือขึ้นมา ทางกลุ่มเองก็ไปอบรมศึกษาความรู้เพิ่มเติม แล้วนำมาพัฒนางานเครื่องปั้นดินเผา”
ขณะเดียวกันยายเอียดที่สังขารโรยราขึ้นทุกวัน ยายเอียดยังมีแอบมีความกังวลใจว่าลูกๆ จะทำต่อจากเราได้หรือเปล่า เพราะตอนนี้เศรษฐกิจเริ่มไม่ดีแล้ว สินค้าก็วางขายมาก ทำให้รายได้ลดลงไม่เหมือนปีก่อนที่ผ่านม ถ้าหากมีคนสนใจจะมาเรียนรู้วิชาเครื่องปั้นดินเผาสร้างอาชีพ ยายเอียดบอกยินดีที่จะ สอนให้เพราะการทำเครื่องปั้นดินเผานั้นไม่ยากเลยแต่ต้องมีใจรักจริง ๆ โดยเริ่มจากการเตรียมดิน ทรายละเอียด การหมักดิน/โม่ดิน/อุปกรณ์เครื่องโม่ดินเดิมสมัยก่อนใช้วิธีการเหยียบ และต้องมีเทคนิคการผสมผสานการหมักดิน/การขึ้นรูป/การดึงรูปทรงตามความต้องการแต่ละชิ้นงาน ต้องระวังอย่าให้ดินที่ปั้นแข็งเกินไปเพราะจะทำให้จัดรูปทรงลำบาก ยายเอียดยังตัดพ้อว่า เคยมีคนมาดูแล้วทดลองทำแล้ว แต่ไม่สำเร็จ และก็เคยมีคนมาลงทุนสร้างโรงอบ ตอนแรกปั้นไปส่งโรงอบสักระยะก็เลิกไป เพราะเขามาขอมาลงทุนหุ้นส่วนกับทางกลุ่มเรา แต่ยายเอียดไม่รับเพราะเขาจะมาหวังผลประโยชน์จากกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาพวกเราเท่านั้น และเมื่อขั้นตอนที่จะนำเข้าโรงอบก็จะมีพิธีกรรมตามความเชื่อ ยายเอียดเล่า ก่อนเผาต้องมีการเซ่นสังเวยเตาเผา ถ้าไม่ทำหรือลืมเซ่นสังเวย เครื่องปั้นดินเผาที่นำเข้าเตาเผาจะแตกเกือบหมด เครื่องเซ่นสังเวยนั้นจะเริ่มด้วยการจุดธูป 3 ดอก ปักไว้ที่บนหัวเตาและนิมนต์พระมาทำพิธีพร้อมฉันภัตตาหาร ที่บ้านด้วย ได้แก่ ข้าวปลาอาหารคาวหวานที่พอจะหาได้ แล้วยกมืออธิษฐานว่า จะเอาของเข้าเตาเผาแล้ว เสร็จก็นำเครื่องปั้นที่เตรียมอบเข้าเตาเผา เผาเสร็จแล้ว ก็ต้องอธิษฐานบอกว่าจะเอาเครื่องปั้นดินเผาออกจากเตา สมัยก่อนใช้วิธีการเผากลางแจ้ง แต่ต่อมาผากับจอมปลวก ทำเป็นโพรงแล้วใช้ไม้ฟื้นใส่แล้วเผา แล้วก็พัฒนาทำโรงอบก็ปั้นโรงอบขึ้น มีดินเหนียวและฟาง อิฐ เป็นส่วนประกอบในการทำ
“มีความกังวลใจว่าจะไม่มีใครสืบทอด ช่างเครื่องปั้นดินเผา หารุ่นลูกหลานบ้านมะยิงจะไม่มี เพราะเด็กรุ่นๆ ไม่ค่อยสนใจ เพราะวิถีชีวิตของชุมชน สภาพสังคมสิ่งแวดล้อม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก วัฒนธรรมตะวันตก เป็นปัญหาและอดห่วงไม่อยากให้สูญหายไป และยังมีข้อจำกัดในเรื่องการส่งออกดินเผาของกลุ่ม อยากให้มีหน่วยงาน ไปช่วยสนับสนุนเครื่องปั้นดินเผาอย่างจริงจัง อยากให้ปรับปรุงคุณภาพ ทั้งกระบวนการผลิต พัฒนารูปแบบให้สวยงาม และคุณภาพของดิน อุปกรณ์ ที่ทันสมัย เพราะไม่อยากให้อาชีพเครื่องปั้นดินเผาสูญหายไปเพราะเป็นอาชีพทำมาตั้งแต่ โบราณ อยากให้อนุรักษ์ไว้คู่บ้านมะยิงสืบทอดเป็นมรดก และที่สำคัญ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านมะยิงอย่างน้อยได้มีความรักสามัคคีช่วยเหลือกันมา ทำอาชีพ สร้างรายได้และช่วยกันทำสวัสดิการในกลุ่มที่ดี สร้างรายได้ให้คนรุ่นหลังต่อไป” ยายเอียด กล่าวในที่สุด
ที่มาข้อมูล : อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศีธรรมราช
ขอขอบคุณ :
ข้อมูลเพิ่มเติมครูภูมิปัญญา “เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง”
นางจำเป็น รักเมือง