นวัตกรรมทางสังคม

นวัตกรรมทางสังคม (social innovation)

เมื่อพูดถึงนวัตกรรมความเข้าใจของผู้คนมักเกี่ยวข้องอยู่กับนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ที่เป็นสิ่งใหม่และสร้างความเปลี่ยนแปลง เช่น เทคโนโลยีการสื่อสารออนไลน์ที่ช่วยให้ผู้คนติดต่อกันได้ง่ายขึ้น หรือนวัตกรรมยานยนตร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพ เป็นต้น นวัตกรรมจึงมีความเกี่ยวเนื่องกับ “ชีวิตที่ดีขึ้น” และเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เหล่านี้เป็นนวัตกรรมที่ “ส่งผลต่อสังคม” แต่สำหรับนวัตกรรมทางสังคมนั้นต่างออกไป นวัตกรรมทางสังคมไม่ใช่สิ่งที่เพียงแค่ “ส่งผลต่อสังคม” แต่เป็นการสร้าง “สังคมที่เปลี่ยนไป” ผ่านกระบวนการความร่วมมือของคนในสังคมนั้นๆ เองและผ่านปฏิบัติการทางสังคมที่ต้องมีความยืดหยุ่น เปิดกว้าง มีพลวัตในกระบวนการปฏิบัติที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทและปฏิบัติทำซ้ำกระทั่งกลายเป็นกิจวัตรของคนในสังคม ก่อเกิดเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (social change)  ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่านวัตกรรมทางสังคม คือ สังคมที่ดำรงด้วยวิถีใหม่ เป็นสังคมที่ตอบสนองความต้องการของผู้คนและแก้ปัญหาในสังคมได้ดีกว่าวิธีการเก่าๆ  ที่สำคัญคือเป็นนวั ตกรรมที่มีผู้คนในสังคมเป็นฟันเฟืองและเป็นองค์ประกอบหลัก อาจมีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงหรืออาจไม่มีก็ได้ เช่น นวัตกรรมแบบเปิด (open innovation) โดย Henry Chesbrough ซึ่งเป็นแนวคิดที่อธิบายถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบใหม่ที่มีพื้นฐานอยู่บนการไหลเวียนของข้อมูลและแนวคิด (ideas) แบบเปิดและไม่จำกัดผ่านแผนกและองค์กร ซึ่งด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลทำให้การ “เปิด” นี้กว้างขึ้น การสื่อสารแบบดิจิตอลจึงเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกให้การส่งต่อข้อมูลอย่างไม่จำกัดเป็นไปอย่างง่ายดายและราบรื่น แต่การที่ผู้คนให้ความร่วมมือในการแบ่งปันข้อมูลและแนวคิดซึ่งกันเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดนวัตกรรมทางสังคมที่อาจช่วยแก้ปัญหาด้านองค์ความรู้ที่จำกัดได้ในองค์กร เป็นต้น

สำหรับคำนิยามนั้นมีผู้เชี่ยวชาญหลากหลายที่ให้ความหมายของนวัตกรรมทางสังคมไว้ แต่โดยรวมแล้วจะมีลักษณะที่สำคัญร่วมกันอยู่ ซึ่งองค์กร TEPSIE ได้กำหนดไว้ดังนี้

  1. New ต้องเป็นสิ่งใหม่ สำหรับสังคมนั้นๆ
  2. Meet a social need ตอบสนองความต้องการทางสังคม รวมทั้งอาจกำหนดความต้องการทางสังคมได้
  3. Put into practice ต้องมีการนำไปปฏิบัติใช้ และแม้แต่ในกระบวนการก่อร่างนวัตกรรมทางสังคมนั้นก็ต้องผ่านปฏฺบัติการทางสังคมด้วย
  4. Engage and mobilise beneficiaries การระดมผู้ได้รับผลประโยชน์ให้มามีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนานวัตกรรมทางสังคมหรือดูแลตนเอง
  5. Tranform social relations เปลี่ยนความสัมพันธ์ทางสังคม กลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงและเกี่ยวข้องกับปัญหาสามารถเข้าถึงอำนาจและทรัพยากร เป็นการกระจายอำนาจเพื่อต้านต่อความไมเป็นธรรมในสังคม วิธีนี้ทำให้นวัตกรรมทางสังคมมีส่วนสร้างวาทกรรมการต่อรองอำนาจด้วย

 “สังคม” ใน นวัตกรรมทางสังคม

แล้วสังคมที่นวัตกรรมทางสังคมต้องการนำพาไปคือสังคมแบบไหน? เช่นกันกับ นวัตกรรมทางเทคโนโลยี นวัตกรรมทางสังคมเป็นสิ่งที่ถูกนิยามไปในแง่มุมของ วิธีการ ใหม่ ที่ช่วยให้ผู้คนในสังคมมี ชีวิตที่ดีขึ้น โดยในการนิยาม “สังคม” ในบริบทนี้ มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ได้ให้ความหมายในแง่ของคุณค่า ว่า “นวัตกรรมจะเป็นของสังคมได้อย่างแท้จริงคือเมื่อสมดุลของผลประโยชน์เอนเอียงไปทางส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว” เช่นกันกับสถาบัน BEPA ที่กล่าวว่า “มูลค่าที่คาดว่าจะได้รับจากนวัตกรรมทางสังคมนั้นคือคุณค่าที่ไม่เกี่ยวกับผลกำไร” ซ้ำBEPA ยังอธิบายเกี่ยวเนื่องกับคุณภาพชีวิต ความสามัคคีและความเป็นอยู่ที่ดี

นอกจากด้านคุณค่ายังมีการกำหนด สังคม ในแง่ของผลกระทบของสังคมซึ่งเน้นในด้านความ ใหม่ Gillwald อธิบายถึงนวัตกรรมทางสังคมว่าเป็นความสำเร็จทางสังคมที่เมื่อเทียบกับวิธีการเดิมที่มีอยู่กับ วิธีการใหม่เป็นการแก้ปัญหาที่ดีกว่าและสร้างผลกระทบที่แปลกใหม่ Cajaiba-Santana กล่าวว่านวัตกรรมทางสังคมนั้นเป็นปฏิบัติการทางที่เกิดขึ้นใหม่ แต่ไม่จำเป็นต้องใหม่แบบที่ไม่เคยมีที่ไหนในโลก หากแต่เป็นวิธีการที่คนในกลุ่มสังคมนั้นไม่เคยนำมาใช้(2013,European Commission,2013 อ้างถึงใน THEORETICAL APPROACHES TO SOCIAL INNOVATION ) หรือ เช่นที่ Howaldt&Schwarz (2010) ยกว่าสิ่งนี้เป็นความแตกต่างระหว่างนวัตกรรมทางสังคมกันัตกรรมทางเทคโนโลยี คือ “นวัตกรรมทางสังคมคือการกำหนดรูปแบบใหม่ๆ ของการปฏิบัติทางสังคมในบางพื้นที่ของการดำเนินการหรือตามแต่บริบทสังคมที่เพื่อตอบสนองความต้องการได้ดีขึ้น แต่ ใหม่ ไม่ได้แปลว่า ดี แต่ในที่นี้คือเป็นที่น่าพอใจของคนในสังคม”

จะเห็นได้ว่าความ ใหม่ ของสังคมคือตีความเฉพาะบริบททางสังคมนั้นๆ  ไม่จำเป็นต้องไม่เคยมีมาก่อนเช่นดียวกับความใหม่ ในความหมายของนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ส่วนคุณค่าดีงามที่ได้รับการนิยามไว้ในหลายความเห็น มักสอดคล้องกันกับผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งหมายถึงความพึ่งพอใจของคนในสังคมที่มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสังคมใหม่และเปนผู้ได้รับผลได้ผลเสียจากนวัตกรรมทางสังคมนั้นๆ แต่ความ “ดี” นั้นพบได้ว่ามีความเป็นนามธรรม ดีของสังคมนึ่งอาจไม่ดีสำหรับอีกสังคม Lindhult กล่าวว่า ‘นวัตกรรมทางสังคมไม่ได้มีความดีงามในตัวเอง ประโยชน์และผลกระทบทุกอย่างขึ้นอยู่กับมุมมอง’            สังคมในนวัตกรรมทางสังคมควรเป็นเช่นไรสำคัญที่สุดจึงขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมนั้นๆ ซึ่งหากอ้างอิงแนวคิดทฤษฎีแล้ว มีแนวคิดหนึ่งที่ชื่อว่า quasi-concept หรือทฤษฎีแบบ กึ่งแนวคิด ที่อธิบายถึงธรรมชาติอย่างหนึ่งของนวัตกรรมทางสังคมคือ สามารถวิเคราะห์เชิงประจักษ์แบบวิธีทางวิทยาศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความไม่แน่นอนที่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ มีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะปฏิบัติการตามแนวทางที่เปลี่ยนไปได้ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงนโยบาย แนวคิดทฤษฎีต้งต้นของนวัตกรรมต่างๆ รวมทั้งสังคม

บริบทที่เปิดกว้างและระดับของนวัตกรรมทางสังคม

นวัตกรรมทางสังคมมีภาพมายาของคุณค่าดีงาม แต่ดังข้อสนับสนุนในหัวข้อก่อนหน้าว่าแท้จริงแล้วธรรมชาติของนวัตกรรมทางสังคมคือความยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลง จึงเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุไม่คาดคิดในระหว่างกระบวนการ เป็นบริบทที่เปิดกว้าง (Receptive contexts) ในกรณีที่นวัตกรรมที่สังคมหนึ่งๆ นำมาปรับใช้มีต้นแบบมาจากสังคมอื่น เมื่อบริบทเปลี่ยนนวัตกรรมทางสังคมก็ต้องเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะกับสังคมใหม่ แต่ในบางครั้งการปรับเปลี่ยนอาจเปลี่ยนธรรมชาติดั้งเดิมของนวัตกรรม ทั้งการต่อยอดหรือเพิ่มคุณสมบัติบางอย่างที่ไม่ควรมีอยู่ในนวัตกรรมที่เป็นต้นฉบับแบบนี้ก็เกิดการบิดเปลี่ยนในขั้นของการแพร่นวัตกรรมทำให้เกิดกลายพันธุ์เป็นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาได้  นวัตกรรมทางสังคมเดียวกันที่ใช้กันในยุโรปอาจต้องปรับจนเสมือนเป็นนวัตกรรมใหม่เมื่อต้องมาใช้กับอาเซียน และในหลายกรณีผลสัมฤทธิ์ก็อาจไม่เป็นไปตามแผนที่ผู้ปฏิบัติงานคาดหวังไว้ทั้งนี้คือต้องหาจุดกึ่งกลางที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

ทั้งนี้นวัตกรรมทางสังคมนั้นเกิดขึ้นได้ในหลายระดับและหลายชนิด โดยทางองค์กร tepsie ได้จำแนก ชนิดของนวัตกรรมทางสังคม ไว้ 4 แบบคือ

  1. New services and products เป็นนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการในหน่ยเล็กๆ ของสังคม เช่น Car-sharing, การพัฒนาบ้าน zero energy
  2. New practices เป็นการปฏิบัติแบบใหม่เพื่อให้ได้ความร่วมมือหรือบทบาทใหม่ๆ ในระดับใหญ่ขึ้นมาของสังคม เช่น การที่สังคมเนเธอแลนด์เรียกร้องความเปลี่ยนแปลงของบทบาทข้าราชการพลเรือน ช่วยให้แก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐและประชาชนได้
  3. New process เป็นการที่ภาคประชาสังคมร่วมสร้างหรือร่วมอยู่ในขั้นกระบวนการ เช่น การจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมในบราซิล หรือเช่น Fair Trade ที่ถือว่าเป็นการค้าที่เป็นธรรมตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพูดคุยแลกเปลี่ยน
  4. New rules and regulations การสร้างกฎหมายใหม่หรือสิทธิใหม่ที่ตอบสนองประชาชน เช่น ในเดนมาร์กและเนเธอแลนด์มีกฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณส่วนบุคคลึ่งผู้สูงอายุสามารถตัดสินใจเองได้ว่าต้องการใช้เงินสนับสนุนเท่าไร

การมีส่วนร่วมของสาธารณชน

การมีส่วนร่วมของสาธารณชนหรือกลุ่มผู้เกี่ยวข้องเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ก็เช่นคำนิยามหลากหลายเกี่ยวกับนวัตกรรมทางสังคมที่เกี่ยวข้องอยู่กับประโยชน์ของสาธารณะ การต่อรองทางอำนาจ การกระจายอำนาจทรัพยากร มนุษย์ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคม เป็นหนึ่งในฟันเฟืองของนวัตกรรมทางสังคมก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะอธิบายถึงประโยชน์อันพึ่งมีสำหรับการร่วมมือกันนี้  โดยความสำคัญของสาธารณชนต่อการสร้างนวัตกรรมทางสังคมมีดังต่อไปนี้

  1. นำมาซึ่งความรู้ที่เฉพาะเจาะจง ringing specific knowledge) โดยประชาชนในสังคมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหามีองค์ความรู้เฉพาะตัวที่ไม่มีใครสามารถศึกษาให้ลึกซึ้งเข้าใจได้เท่ากับคนท้องที่ จึงเป็นสิ่งที่ดีกว่าถ้าตัวผู้ประสบปัญหาเองสามารถพูดประสบการณ์และความต้องการของตนเองได้
  2. ความคิดเห็นที่หลากหลาย (Divergent thinking) ความคิดเห็นหลากหลายมุมมองของประชาชนเป็นแหล่งของความคิดสร้างสรรค์ได้ สำหรับการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนอาจช่วยให้คำตอบได้ดีขึ้น
  3. การจัดการปัญหาที่ซับซ้อน (Management of complex problems) ปัญหาในสังคมนั้นมีความละเอียดอ่อนต่างไปตามแต่ละท้องที่หรือประเด็น ดังนั้นจึงไม่มีการแก้ไขที่สำเร็จรูปเพียงหนึ่งเดียวที่จะแก้ปัญหาทั้งหมดได้แม้ดูผิวเผินแล้วจะมีบริบทคล้ายกันหรือมีปัญหาที่คล้ายกัน หลายครั้งจึงมีการต่อต้านจากคนในท้องที่เมื่อรัฐหรือหน่วยงานเบื้องบนส่งแนวทางแก้ปัญหาแบบสำเร็จรูปลงมาใช้กับพื้นที่นั้นๆ โดยไม่ได้ศึกษาถึงความละเอียดอ่อนของผู้คนและปัญหาย่อยซับซ้อน จึงสำคัญมากที่ต้องมีผู้คนในท้องที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลประโยชน์มาอยู่ในกระบวนการ ทั้งนี้นวัตกรรมทางสังคมเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลายปัญหาที่ซับซ้อนจึงไม่อาจจัดการด้วยวิธีการส่งเครื่องมือหรือผลิตภัณฑ์ ผู้คนจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในกาปฏิบัติ
  4. ส่งเสริมความชอบธรรมของโครงการ (Legitimacy of projects) การมีส่วมร่วมของประชาชนในการผลิตและพัฒนาโครงการ มีความสำคัญต่อการให้น้ำหนักของโครงการนั้นๆ ทำให้น่าเชื่อถือและดูมีความชอบธรรมมากขึ้น
  5. สร้างความท้าทาย (Challeges) ในระหว่างกระบวนการ ในการทำงานร่วมกันมีความเป็นไปได้ที่ผลลัพท์จะถูกนำไปสู่สิ่งที่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติและผู้ร่วมงานไม่ได้คาดหวังไว้ ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นสิ่งสำคัญ ทุกอย่างมีความไม่แน่นอนและจำเป็นต้องเปิดกว้างต่อความเป็นไปได้ทั้งหมด

นวัตกรรมทางสังคมและการเปลี่ยนแปลงสังคม

วิธีการหรือกลไกที่นวัตกรรมทางสังคมสามารถเปลี่ยนแปลงระบบสังคมหรือส่งผลกระทบได้ในระดับวงกว้างนั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องในหลายๆ ด้าน ทั้งนี้ทฤษฎี Transformative social innovation หรือ ทฤษฎี TSI ได้อธิบายไว้ถึงความเกี่ยวข้องระหว่าง game changers, transformative discourses , social innovation และ systemic change (การเปลี่ยนแปลงระบบ) โดยอธิบายไว้ว่า นวัตกรรมทางสังคม (social innovation) จะสามารถมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงระบบ (systemic change)ได้อย่างไร ทั้งนี้ต้องดูปัจจัยแวดล้อมซึ่งก็คือ game changersและ transformative discourses ซึ่งจะเข้ามาเป็นตัวแปรในการกำเนิดนวัตกรรมทางสังคมหรือเป็นตัวแปรที่สามารถส่งผลกระทบต่อสังคมได้ โดยได้อธิบายองค์ประกอบทั้ง 2 นี้ไว้ว่า

  • game changers คือ สิ่งใดๆ ก็ตามที่ส่งผลต่อสังคมในวงกว้างทั้งด้านบวกและลบ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจการเงิน , การพัฒนาด้าน ICT , ปัญหาการว่างงาน,คุณภาพชีวิต เป็นต้น เป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนในสังคมและผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือภาครัฐต้องตื่นตัว เช่น ปัญหาการเงินก็นำไปสู่การจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างสวัสดิการสังคม หรือผลการทบจาก game changers ในด้านบวก เช่น การพัฒนาด้าน ICT ก็เปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้สังคมในการส่งต่อประสบการณ์, มุมมอง, ความรู้ ฯลฯ ผ่าน social media ให้เป็น open source เป็นต้น
    ……….
  • วาทกรรมที่เป็นกระแส (transformative discourses) คือ ประเด็นใดใดก็ตามที่เป็นกระแสอยู่ในช่วงนั้น เช่น ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ, ปัญหามลพิษ และมักเป็นสิ่งที่สังคมยังไม่ตื่นรู้หรือไม่ได้รู้สึกว่ามีผลต่อชีวิตประจำวัน actors หรือผู้ที่เข้ามามีบทบาทจะเข้ามาในช่องว่างนี้เพื่อดึงประเด็นต่างๆ ให้ผู้คนตระหนักรู้แล้วร่วมสร้างกันเป็นนวัตกรรมทางสังคม

สำหรับการสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับของระบบสังคม ต้องอธิบายถึงแต่ละลำดับของสังคมก่อน

แนวคิดThe Multilevel Perspective (MLP) ได้กล่าวว่าสังคมนั้นมี 3 ลำดับขั้นจากเล็กไปใหญ่ ซึ่งในแต่ละลำดับนี้จะสามารถโดนผลกระทบหรือถูกทำให้เปลี่ยนแปลงได้ เริ่มแรกระดับย่อยสุดคือ niches ในระดับนี้นวัตกรรมทางสังคมจะสามารถส่งผลหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ ถัดมาคือระดับ regimes คือเป็นระดับของการปกครอง เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางสังคมและกฎเฏณฑ์ต่างๆ ในสังคม สุดท้ายคือระดับ landscape อันหมายถึงสิ่งต่างๆ ที่เป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้และเข้ามามีผลต่อสังคมวงกว้าง ซึ่งก็คือตัว game changers ที่เข้ามามีอิทธิพลและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมวงกว้างได้ ในขณะเดียวกัน game changers ก็สามารถสร้างแรงกดดันลงไปสู่สิ่งที่อยู่ในระดับ regimes ได้อีกทอดหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น อัตราเงินเฟ้อที่สร้างลกระทบต่อคนทั้งสังคมนี้ถือเป็น game changers เมื่อเกิดเป็นปัญหามันก็จะกดดันให้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกกฎหมายต่างๆ ออกมาเพื่อแก้ไข ซึ่ง หน่วยงานเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในระดับ regimes เป็นต้น ทั้งนี้ในการเปลี่ยนแปลงระบบสังคมต้องมีการทำงานร่วมกันหรือมีการปะทะกันระหว่าง landscpe, regimes และ niches ทั้ง 3 ระดับ

โดยในการที่นวัตกรรมทางสังคมจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าระดับ niches  ก็เกิดได้ในกรณีที่นวัตกรรมนั้นๆ เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลง game changers ที่ถูกวางอยู่ในระดับ landscape โดยในหลายครั้งการแก้ปัญหาของภาครัฐ (regimes) หรือการปล่อยให้ปัญหาถูกแก้ด้วยกลไกการตลาดยังไม่ตอบสนองมากพอ นวัตกรรมทางสังคมก็จะเข้ามามีบทบาทในจุดนี้

ซึ่งการที่ประเด็นหรือปัญหาที่เกิดขึ้นจะได้รับการเปลี่ยนแปลงโดยนวัตกรรมทางสังคมได้นั้น ต้องมีการเคลื่อนไหวของ actors หรือผู้ปฏิบัติที่มีบทบาทสามารถเข้ามา ระบุประเด็น เห็นถึงปัญหาและริเริ่มการร่วมสร้างนวัตกรรมทางสังคมที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละเรื่องได้  ในทางกลับกัน actors ก็สามารถนำประเด็นที่ไม่อยู่ในสายตาของคนทั่วไปในสังคมให้เข้ามาเป็นกระแสหรือเป็นวาทกรรมที่เรียกร้องพื้นที่และความเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่นการผลักดัน low-carbon iving ,การเปิดกว้างทางข้อมูลแบบ open source  เป็นต้น ในกระบวนการนี้ actors จะเป็นผู้มีความสำคัญในการกำหนดทิศทางที่นวัตกรรมทางสังคมจะไปและจะสร้างผลกระทบต่อประเด็นใด ซึ่งในหลายกรณีประเด็นเหล่านั้นเมื่อถูกพูดซ้ำและอยู่ในกระแสของสังคมจากการรณรงค์หรือจากการปฏิบัติของ actor ประเด็นต่างๆ ก็จะกลายเป็น วาทกรรมที่เป็นกระแส (transformative discourses) ขึ้นมาได้ โดยในบางครั้งความเป็นกระแสอาจเป็นแรงกดดันทำให้หน่วยงานในระดับ regimes ลุกขึ้นมาจัดการได้อีกทอดหนึ่งและเสริมแรงกันในการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปทั้งระบบ

แต่ก็ไม่จำเป็นว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะต้องเกิดจากความจงใจของ actors หรือเกิดจากแรงผลักดันของผู้ร่วมสร้างนวัตกรรมทางสังคมเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากผลกระทบที่ตามมาหลังจากการมีนวัตกรรมทางสังคมก็ได้ ทั้งกระบวนการตรวจสอบขั้นตอนการทำงานของนวัตกรรมนั้นๆ , ผลกระทบที่ตามมาหลังจากเริ่มปฏิบัติการ และ ผลลัพท์สุดท้ายของนวัตกรรมทางสังคม เหล่านี้ก็สามารถกลายเป็นองค์ความรู้ให้แก่สังคมได้ และถ้าผลลัพท์จากนวัตกรรมทางสังคมหนึ่งๆ สร้างแรงกระเพื่อมหรือสร้างผลกระทบมากพอ ก็จะสามารถเพิ่มอำนาจให้แก่ actors และเพิ่มอำนาจให้แก่สังคม รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจแก่ประชาชนอื่นๆ ในสังคมได้อีก

ทั้งนี้ใช่ว่านวัตกรรมทางสังคมจะต้องเป็นปฏิบัติการในระดับ niches เสมอไป แต่สามารถขยายหรือยกระดับไปสู่ระดับ regime ได้เหมือนกัน ซึ่งต้องอาศัยการรวมกลุ่มกันของเครือข่ายของนวัตกรรมทางสังคมทั้งที่ใกล้เคียงกันและทั้งที่ต่างชนิดกันเพื่อขยาย (scaling up) หรือเผยแพร่ จนที่สุดแล้วเครือข่ายของนวัตกรรมก็จะอยู่ในระดับ regime ได้ เช่น เครือข่ายข้ามชาติและองค์กรนานาชาติที่มีความเป็นกลาง เป็นต้น จึงทำให้นวัตกรรมทางสังคมสามารถมีได้ในหลายระดับดังที่กล่าวไว้ในหัวข้อก่อนๆ

อ้างอิง

BUTZIN, Anna, et al. Theoretical approaches to social innovation–A critical literature review. 2014.

TEPSIE. 2014. «Social Innovation Theory and Research: A Guide for Researchers» TEPSIE. Accessed October 20, 2016,

Weaver, P. (2013). Transformative social innovation: a sustainability transitions perspective on social innovation.

Skip to content